Growth mindset เองนั้นก็เป็นอีกหนึ่ง buzzword ที่เป็นที่นิยมมากๆในเกือบจะทุกองค์กร เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จและเติบโตขององค์กรก็คงไม่เกินจริงไปนัก ก็เพราะก้าวแรกสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากทัศนคติที่ใช่ และยิ่งในยุคปัจจุบันที่เราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ยิ่งทำให้ mindset นั้นส่งผลต่อวิธีการจัดการกับปัญหา
คำว่า growth mindset นั้นถ้าหากกล่าวกันจริงๆแล้ว น่าจะเริ่มต้นแพร่หลายมาจากหนังสือของ Carol Dweck ที่กล่าวถึงชุดของ mindset 2 รูปแบบทั้ง fixed mindset และ growth mindset ในไทยเราเองก็มีหนังสือแปลของผู้เขียนคนนี้ ชื่อว่า “Mindset: ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา”
ก่อนจะไป growth mindset มาทำความรู้จักกับ fixed mindset กันก่อน
อย่างที่เรากล่าวไปในช่วงต้นของบทความว่าในหนังสือของ Carol นั้น จะพูดถึงชุดความคิด 2 แบบด้วยกัน ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านทำความเข้าใจได้ดีขึ้น เราจะมาทำความรู้จักกับชุดความคิดแต่ละแบบกันก่อน
Fixed mindset นั้นเป็นอะไรที่เรียกได้ว่าตรงตัวกับคำแปลเลย คือการที่เรามีชุดความคิดว่าตัวเราเองนั้นทำได้ประมาณนี้แหละ คงทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิดมีแค่นี้ หรือโชคชะตาที่ไม่เอื้ออำนวย และด้วยชุดความคิดเช่นนี้ก็จะทำให้คนจำพวกนี้ไม่มุ่งมั่นมองหาวิธีการพัฒนาทักษะต่างๆ รวมไปถึงหาองค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม ตัวอย่างของแนวความคิดประเภทนี้ก็เช่น
- ขนาดเราไม่ขยัน ยังทำได้ดีขนาดนี้เลย
- นักกีฬาอาชีพที่เล่นได้ดีขนาดนี้ก็เพราะมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิด
- เชื่อว่าคนที่ไม่เก่งก็จะไม่เก่งแบบนี้ต่อไป พัฒนาไม่ได้อย่างแน่นอน
กลับกันในด้านตรงข้าม พระเอกของเราในวันนี้ “growth mindset” ก็จะเป็นชุดความคิดที่อยู่ในด้านตรงข้ามเลย หากพูดกันแบบเข้าใจว่าก็คือ mindset ที่เชื่อว่าความสามารถของคนเรานั้นเป็นอะไรที่พัฒนาได้ตตลอดเวลา อุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ความพยายาม การเรียนรู้ ทำให้เราเก่งขึ้นได้จริงๆ ตัวอย่างก็เช่น
- นักกีฬาอาชีพเป็นได้เพราะพวกเขาพยายามฝึกซ้อมอย่างมุ่งมั่น
- แม้ว่าวิชานี้เราจะเคยได้คะแนนน้อย ถ้าเราพยายามมากขึ้น ก็ทำเกรดดีๆได้
- ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นหนทางสู่การเรียนรู้มากกว่า
ข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับ growth mindset
1.คนที่มี growth mindset ไม่จำเป็นว่าต้องมีกับทุกเรื่อง
คนๆนึงที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่เรียกได้ว่ามี mindset แบบ growth mindset นั้น แม้ว่ากับเรื่องส่วนใหญ่เค้าจะมีแนวคิดเช่นนี้ แต่กับบางอย่างก็อาจจะมี fixed mindset ก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่นในการทำงานคนๆหนึ่งอาจจะมีแนวคิดที่ดีมากๆ เชื่อมั่นว่าคนในทีมสามารถเติบโตได้ แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพูดในที่สาธารณะกลับคิดว่าตัวเองทำไม่ได้อย่างแน่นอน
2.คนที่มี growth mindset สามารถทำหรือเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการ
จริงอยู่แม้ว่า growth mindset จะเชื่อในเรื่องของการพยายาม แต่หากเราเชื่อมั่นมากเกินไปว่าเราจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจ การทำเช่นนี้อาจจะทำให้เราละเลยเป้าหมายและมุ่งมั่นในสิ่งที่เราเก่งก็ได้ เช่นหากเราคิดว่าเราสามารถเป็นนักร้องชื่อดังได้ ในขณะที่งานประจำเราคือสายงานด้านธุรกิจ การทุ่มเทความพยายามไปในการเป็นนักร้อง อาจเป็นการโฟกัสผิดจุด และทำให้ความทุ่มเทในการทำงานที่เราถนัดลดลงไปเรื่อยๆแทน
3.Growth mindset หมายถึงการคิดบวก พร้อมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้
หลายต่อหลายครั้ง growth mindset ก็กลายเป็นเครื่องมือที่พ่อแม่ อาจารย์ หัวหน้างานมักใช้ในการบอกกับผู้คนของพวกเขาเมื่อมีงานต่างๆเยอะจนเกินไปว่า พวกเขาทำได้ขอแค่มีทัศนคติที่ดีต่อมัน อันที่จริงแล้วเมื่อมี task ต่างๆ ที่พวกเขาต้องทำเยอะไป และเราพร่ำบอกเรื่องของ mindset จะกลับกลายเป็นผลเสียมากยิ่งกว่า อย่าลืมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากทัศนคติของพวกเขา แต่มาจากปริมาณงานต่างๆต่างหาก
4.Growth mindset จะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ และผลตอบแทนจากความพยายามที่ดีเสมอ
บ่อยครั้งที่การที่เราพยายามทำอะไร โดยหวังว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้ผลตอบแทนจากมันกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเกรดดีๆ หรือหากเป็นในการทำธุรกิจก็จะเป็นเรื่องของกำไรที่ดีเป็นหลัก การโฟกัสไปที่ end goal ตั้งแต่ต้น จะทำให้เป้าหมายบิดเบี้ยวไป ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือความเชื่อที่ว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้เสมอ อุปสรรคคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ตรงนั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และทำให้ผลลัพธ์ที่ดีตามมาเอง
5 วิธีสร้าง growth mindset ได้ง่ายๆด้วยตนเอง
กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย
เป็นเรื่องปกติที่คนบางคนนั้นจะหลีกหนีความท้าทาย ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากความกลัว กลัวว่าจะทำผิดพลาด กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราทำไม่ได้ ไม่เก่งจริง แต่อันที่จริงแล้วการเผชิญหน้ากับความท้าทาย จะช่วยยกระดับความสามารถเราให้ดียิ่งขึ้น การทำแต่สิ่งที่เราทำได้อยู่แล้วต่างหาก ที่จะทำให้เราหยุดอยู่กับที่
ยอมรับจุดอ่อนของตนเองอย่างตรงไปตรงมา
ลองหยุดคิดและสำรวจตัวเองดูเป็นครั้งคราวด้วยความเป็นกลาง มองหาพฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อนของเราเอง ทำความเข้าใจว่าคนเราคงไม่อาจเก่งได้ทุกอย่าง แต่สามารถพยายามเพื่อให้จุดอ่อนนั้นดีขึ้นได้
ให้ความสำคัญกับระหว่างทาง
การมุ่งมั่นตั้งใจเป็นสิ่งที่ดี แต่การโฟกัสไปที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวจะทำให้เราไม่รู้สึกสนุกไปกับการเรียนรู้ระหว่างทาง อย่าลืมว่า growth mindset เป็นเรื่องของการพัฒนา และเติบโต เราคงไม่อาจได้มาถึงสิ่งนี้ถ้าเรากดดันตัวเองด้วยสิ่งที่เรียกว่าผลลัพธ์
ให้ความสำคัญกับคำชมให้น้อยลง
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนเรามักจะชื่นชอบคำชม และมักอยากให้ผู้คนชื่นชมตนเองในรูปแบบต่างๆ แต่การที่เราเอาคุณค่าตัวเองไปผูกกับคำชมของคนอื่น จะทำให้เราไม่กล้าที่จะเปิดใจ ริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพราะว่าเราจะกลัวว่าสุดท้ายเราจะไม่ได้รับคำชมเชยอีก
เก็บ feedback ไปพัฒนา
อย่าปล่อยให้คำติชมต่างๆที่ได้รับเป็นเพียงแค่สายลมที่พัดผ่านไป แต่จงนำเอาคำแนะนำต่างๆมาปรับใช้เพื่อการเติบโต หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นอย่าลืมขอฟีดแบ็คจากคนอื่นด้วยเป็นครั้งคราว เพราะคำวิจารณ์เหล่านี้นั้นมีประโยชน์มากๆในการปรับปรุง พัฒนาตัวเอง
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo