เช็คสิทธิ์ประกันสังคมด้วยตัวเอง

ในปัจจุบัน การเช็คสิทธิ์ประกันสังคม (Social Security) ของพนักงานได้กลายเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากขึ้นผ่านหลากหลายช่องทางดังต่อไปนี้

1. เช็คผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม
  • เลือก “ผู้ประกันตน” และเข้าสู่ระบบด้วย เลขบัตรประชาชน และ รหัสผ่าน
  • หากยังไม่เคยลงทะเบียนใช้งานระบบ ให้ทำการสมัครสมาชิกก่อน
  • เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว สามารถดูข้อมูลสิทธิประกันสังคม เช่น เงินสมทบ สิทธิรักษาพยาบาล และอื่น ๆ ได้ทันที

2. เช็คผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect Mobile

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SSO Connect จาก App Store (สำหรับ iOS) หรือ Google Play (สำหรับ Android)
  • ลงทะเบียนหรือเข้าสู่ระบบด้วยเลขบัตรประชาชน
  • ภายในแอปฯ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ประกันสังคม เช่น จำนวนเงินสมทบ สิทธิรักษาพยาบาล และการคุ้มครองต่าง ๆ ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา

3. เช็คผ่านสายด่วนประกันสังคม 1506

  • โทรไปที่สายด่วน 1506 (ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
  • แจ้งหมายเลขบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามข้อมูลสิทธิ์ประกันสังคม เช่น สถานะการคุ้มครอง หรือข้อมูลเงินสมทบ

4. เช็คผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย

  • สามารถเช็คสิทธิ์ประกันสังคมได้ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย โดยใช้บัตรประชาชนในการตรวจสอบสิทธิ์ที่ตู้ ATM

5. เช็คที่สำนักงานประกันสังคม

  • ติดต่อไปที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน พร้อมนำบัตรประชาชนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบสิทธิ์ต่าง ๆ ให้คุณ

ประกันสังคมเรื่องที่คนทำงานน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ที่รู้จักก็อาจจะเพราะว่าต้องถูกหักออกจากเงินเดือนทุกเดือน ๆ แต่อย่าพึ่งเซ็งกันไปก่อน จริงๆแล้วยังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่คนทำงานจำนวนมากยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่เราจะได้รับ เงินที่เราจ่ายออกไปในแต่ละเดือนนั้น ทำให้เราได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง? วันนี้ empeo เราจะมาทำให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับประกันสังคมกันมากขึ้นครับ

ประกันสังคมคืออะไร?

เชื่อว่า​คุณผู้อ่านทุกท่านน่าจะพอรู้จักกับคำ ๆ นี้ดีพอสมควร ซึ่งหลัง ๆ มานี้พนักงานกินเงินเดือนน่าจะตื่นตัวกันมากขึ้นในเรื่องนี้ เพราะเรามักจะได้ยินข่าวเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ การจะแก้ในเรื่องการส่งให้มากขึ้น การเลือกตั้งแต่หากเรายังไม่รู้ว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร เราสรุปมาให้แล้ว

ประกันสังคมนั้นกล่าวอย่างเข้าใจง่าย ก็คือ กองทุนที่ผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบเข้ามาทุกเดือน เพื่อเอามาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต โดยได้มาซึ่งสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูลูก เงินชดเชยว่างงาน เงินหลังเกษียณอายุ จริง ๆ แล้วหากจะบอกว่าเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐนำมาใช้ในการออมภาคบังคับก็คงจะไม่ผิดสักเท่าไรนัก

1. ทำความเข้าใจกับมาตราประกันตนแบบต่าง ๆ

ถ้าทุกคนยังจำกันได้ในช่วงที่มีโควิด ภาครัฐก็ได้มีการออกโครงการเงินช่วยเหลือต่างๆมาให้กับผู้ประกันตนกัน และแน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับประกันสังคมสักเท่าไรนัก ก็เกิดเป็นคำถามตามมาว่าแต่ละมาตรานั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และเราเป็นผู้ประกันตนแบบไหนกันแน่

  • มาตรา 33 น่าจะเป็นตัวที่คนทำงานคุ้นเคยกันดี เพราะผู้ประกันตนในมาตรานี้ก็คือคนที่ทำงานกินเงินเดือน ที่ทำงานในบริษัทต่างๆนั่นเอง
  • มาตรา 39 สำหรับมาตรานี้ก็คือสำหรับคนที่เคยทำงานมาก่อน ตอนหลังลาออกแล้วยังต้องการส่งประกันสังคมต่อไป คนที่จะเข้ามาตรานี้ได้นั้น ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานมาอย่างน้อย 6 เดือน นั่นเอง
  • มาตรา 40 หรือเรียกอีกอย่างว่าผู้ประกันตนอิสระเป็นผู้ประกันที่ไม่เข้าข่าย 33 และ 39 และผู้ประกันตนในมาตรานี้ก็จะมีทางเลือกในการส่งเงินสมทบแตกต่างออกไป

2. การส่งเงินสมทบประกันสังคม

เงินสมทบประกันสังคมก็คือเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงที่จะนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม โดยเป็นการส่งทุกเดือน การคำนวณเงินที่ส่งก็จะคิดจากอัตราเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ในอัตรา 5% โดยคิดจากเงินเดือนและส่งสูงสุดไม่เกิน 750 บาท ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะถูกหักที่ 0.05*10,000= 500 บาท ในขณะที่ นาย B เงินเดือน 50,000 บาทก็จะถูกหักอยู่ที่ 750 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด เท่ากับคนที่ได้รับเงินเดือน 15,000 ขึ้นไปนั่นเอง

การหักเงินประกันสังคมนอกจากจะหักจากเงินเดือนเราแล้ว นายจ้างเองนั้นก็จะสมทบที่ 5% อัตราเดียวกับเรา และรัฐบาลเองก็ร่วมสมทบด้วยในอัตรา 2.75 และในเงินสมทบที่เราส่งเข้ากองทุนในแต่ละเดือนนั้นก็จะมีแยกย่อยไปอีกว่า ใน 5% นั้นโดนเอาไปทำอะไรบ้าง 3% ประกันชราภาพ 1.5% ประกันเจ็บป่วย และ 0.5% สำหรับประกันว่างงาน

3. สิทธิ์กรณีเจ็บป่วย

ประกันสังคมยังมีในเรื่องของสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลให้อีกด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วอย่างต่ำ 3 เดือน การรักษาก็จะต้องไปตามโรงพยาบาลที่ระบุเลือกไว้ในบัตร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือฉุกเฉินที่จะต้องสำรองจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกคืนทีหลัง และที่ดีสุดๆเลยก็คือประกันสังคมยังมาพร้อมกับสิทธิ์ในการทำฟันผุ อุด หรือขูดหินปูน 900 บาท/ปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าประกันสังคมจะช่วยในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล แต่ใช่ว่าจะครอบคลุมทุกโรค ยังมี 14 โรคที่ประกันสังคมนั้นไม่คุ้มครอง ที่เพื่อนๆต้องเช็คก่อนใช้สิทธิ์กันด้วย

4. มาพร้อมเงินคืนยามเกษียณ

รูปแบบการได้เงินคืนจากกองทุนประกันสังคมนั้นแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน โดยขึ้นกับจำนวนเดือนที่ส่งสมทบ อายุ และสถานะผู้ประกันตน

กรณีแรก – เมื่อผู้ประกันตนส่งสมทบเกินกว่า 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อความเป็นผู้ประกันสิ้นสุด ก็จะได้เงินเกษียณออกมาเป็นรายเดือนแทน สำหรับจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ส่งเริ่มที่ 20% คิดจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คิดสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) และทุกๆ 12 เดือนจะได้เปอร์เซ็นเงินคืนเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.5 % ตัวอย่างเช่นหากนาย A ได้รับเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยที่ 30,000 บาท

  • หากส่งสมทบมา 15 ปี จะได้รับเงินคืน 20% x 15,000 = 3000 บาทต่อเดือน
  • หากส่ง 20 ปี ได้รับเงินคืน 20%+(1.5*5)%  x 15,000 =4,125 บาทต่อเดือน

กรณีที่ 2 – จ่ายมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่เกิน 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีเมื่อสถานะประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินเท่ากับเงินสมทบตนเอง + ส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนที่เกิดจากประกันสังคมนำเงินไปลงทุนนั่นเอง

กรณีที่ 3 – จ่ายสมทบน้อยกว่า 12 เดือน และมีอายุครบ 55ปีเมื่อสถานะประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินส่วนที่ตนเองจ่ายสมทบไป

5. สิทธิ์อื่นๆ

นอกจากนี้ประกันสังคมยังมีสิทธิ์อื่นๆอีกเช่น สิทธิในการคลอดบุตร สิทธิ์กรณีเสียชีวิตหรือพิการ สิทธิ์ในการสงเคราะห์บุตร สิทธิ์กรณีว่างงาน จะเห็นได้เลยว่าเงินที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆจ่ายไปในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้จ่ายไปโดยไม่มีอะไรตอบแทนกลับมา เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็หวังว่าทุกท่านจะไม่เกิดอาการเซ็งเมื่อต้องจ่ายเงินประกันสังคมกันทุกเดือนอีกต่อไปแล้วนะครับ

​ประกันสังคมไม่ส่งได้ไหม?

​หลายคนมักเกิดข้อสงสัย แล้วถ้าเราไม่ได้ใช้สิทธิต่าง ๆ ที่กล่าวมาเลยล่ะ เลือกที่จะไม่ส่งได้รึเปล่า สำหรับประเด็นนี้ขอแยกเป็น 2 ประเด็นด้วยกัน สำหรับพนักงานกินเงินเดือนในฐานะลูกจ้างนั้นมีหน้าที่ที่ต้องส่งประกันสังคม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สำหรับในส่วนของบริษัทหรือนายจ้างเองนั้น เมื่อมีลูกจ้างก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามในเรื่องของการส่งเงินประกันสังคมให้กับลูกจ้าง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามพรบ.ประกันสังคมนั่นเอง 

​หลังอ่านบทความนี้จบก็หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจเกี่ยวกับประกันสังคมกันมากขึ้น หลายท่านก่อนหน้าอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าประกันสังคมเป็นแค่เรื่องของการรักษาพยาบาล แต่จริง ๆ แล้วมีสิทธิประโยชน์มากมาย เพียงแต่เราอาจจะยังไม่รู้ แม้ว่าจะไม่อยากอยู่ในระบบนี้แต่ถ้ายังต้องทำงานอยู่ การทำความเข้าใจจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วน empeo ก็ยังมีระบบที่ตรวจสอบสลิปเงินเดือน ซึ่งก็แสดงรายรับ รายหักต่าง ๆ ที่มีการส่งค่าประกันสังคมในแต่ละเดือนอีกด้วย

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

sso, ประกันสังคม


You may also like

>