what is corporate culture

วัฒนธรรมองค์กรคำนี้แม้ว่าจะดูเป็นคำที่คุ้นเคยกันดี แต่ในปี 2021 เองก็ยังเป็นหัวข้อที่เหล่า HR ยังคงให้ความสนใจกันอย่างร้อนแรง เพราะทุกวันนี้เองการที่เราอยากจะมัดใจคนเก่งๆให้อยู่กับองค์กรเราไปนานๆ แค่ผลตอบแทนนั้นย่อมไม่เพียงพออีกต่อไป ว่ากันว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดึงดูดและเป็นมิตรต่อการทำงานกลายมาเป็นส่วนที่สำคัญมากๆสำหรับคนๆหนึ่งในชีวิตการทำงานมากกว่าด้วยซ้ำไป และหากคุณผู้อ่านเคยได้ยิน quote ของ Peter Drucker บิดาแห่งการจัดการ ที่ว่า “Culture eats strategy for breakfast” ก็คงจะเป็นเครื่องยืนยันให้เริ่มตระหนักกันแล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นสำคัญต่อความสำเร็จมากแค่ไหน 

วัฒนธรรมองค์กร คืออะไร?

วัฒนธรรมองค์กร (corporate culture) นั้นถ้ากล่าวโดยรวมแล้วก็หมายถึงการที่คนในองค์กรจะอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร รวมไปถึงสิ่งต่างๆที่องค์กรนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อให้องค์กรเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน คนในองค์กรมีความกลมเกลียวกัน ดังนั้นแล้วจากนิยามเองนั้น ถ้าหากเราดูบริบททางสังคมนั้น คำว่าวัฒนธรรมเราก็จะเข้าใจตรงกันว่าจะมีการเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมคน ศิลปะ ดนตรี อาหาร ศาสนา ภาษาและอื่นๆ  วัฒนธรรมองค์กรเองนั้นก็ไม่ต่างกันเพราะก็เกิดจากกลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกันนั่นเอง และคนกลุ่มนี้นั้นจะแชร์ในเรื่องต่างๆ ทัศนคติ เป้าหมาย มาตรฐานในการทำงาน ค่านิยม ความเชื่อทุกๆอย่างร่วมกัน

ดังนั้นแล้วการจะเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้นั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เพียงแค่กำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆภายในบริษัทให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่องค์กรจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่แท้จริงได้นั้น ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ยึดมั่นในวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่พนักงานนำเข้ามา หากแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในบริษัทแล้วต่างหาก จึงเป็นที่มาว่าทำไมเมื่อเข้าไปทำงานจึงมักมีเรื่อง culture fit เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง

ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กรกับบริษัท

โดยมากแล้ววัฒนธรรมองค์กรจะมีความใกล้เคียงมากๆกับวัฒนธรรมของประเทศที่บริษัทนั้นๆตั้งอยู่ และหากพูดถึงบริษัทข้ามชาติต่างๆ ก็จะมีความผสมผสานระหว่างประเทศของบริษัทแม่และประเทศที่ตั้งบริษัท ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น วัฒนธรรมองค์กรของประเทศเอเชีย เช่นญี่ปุ่นที่มักจะมีการทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นเพื่อแสดงถึงความทุ่มเทกับงาน ในขณะที่ถ้าเป็นองค์กรตะวันตกมักจะมองว่าการทำงานเกินเวลาบ่งบอกถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งแม้บริษัททั้ง 2 ที่กล่าวถึงนั้นจะมาตั้งบริษัทอยู่ในไทย คนที่ทำงานแม้เป็นคนไทยส่วนใหญ่ก็ตามแต่ก็ยังมีวัฒนธรรมยึดกับประเทศแม่ที่แตกต่างตามที่กล่าวมา

อีกหนึ่งตัวอย่างในกรณีของบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทย่อยๆในหลายๆประเทศ จะมีวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไรในเมื่อคนที่มาทำงานร่วมกันมีหลายชาติ แตกต่างกันมากทั้งด้านความคิด ภาษาและความเชื่อต่างๆ แม้ว่าความแตกต่างในเรื่องต่างๆเหล่านี้จะมีอยู่จริง แต่สุดท้ายแล้ว ทุกคนทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และก็เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะทำให้พนักงานรู้ว่าคุณค่าที่บริษัทตั้งไว้มีเช่นไรบ้าง แม้ว่าพนักงานอาจจะไม่ได้รู้สึกผูกพันธ์ในระดับส่วนตัวก็ตาม

และในทางตรงกันข้ามบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่กี่คนเองนั้น วัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศออกมาให้ทุกคนรู้ถึงคุณค่าขององค์กร แต่อาจจะเป็นเพียงแค่การที่ทุกคนรู้เป้าหมายเดียวกัน และปฏิบัติตนให้ไปในทิศทางนั้นก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรของที่นั้นๆแล้วเช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง

หลักการง่ายๆคือการที่ดูว่าพนักงานในองค์กรนั้นแสดงออกในบริษัท สอดคล้องไปกับทิศทางของวัฒนธรรมองค์กรที่ทางบริษัท ผู้บริหารได้ประกาศไว้หรือไม่ หากบริษัทต้องการให้วัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งคือการที่พนักงานต้องมี work life balance ในการทำงาน แต่ในกระบวนการจริงกลับพบว่ามีการทำงานดึกๆกันเป็นปกติ ใครกลับก่อนโดนเพ่งเล็ง พนักงานก็ย่อมไม่รู้สึกอินกับวัฒนธรรมองค์กรอื่นๆที่บริษัทพยายามป่าวประกาศให้เป็น เพราะสุดท้ายแล้วทุกอย่างก็เป็นเพียงแค่คำพูด ดังนั้นแล้ววัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งนั้นต้องทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ป่าวประกาศไปนั้นมีนโยบายที่ต้องการจะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ

ทำไมวัฒนธรรมองค์กรถึงสำคัญ

เชื่อได้ว่าเมื่อผู้อ่านอ่านถึงตรงนี้คงพอเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรกันมากพอสมควรแล้ว แต่หากยังไม่ได้แน่ใจนั้น ลองจินตนาการถึงบริษัท 2 แห่ง บริษัทนึงมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมากๆ ใส่ใจในเรื่องพนักงาน ในขณะที่บริษัทที่ 2 ไม่แคร์ในเรื่องนี้สักเท่าไร และมักจะเอาเปรียบพนักงานอยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าบริษัทที่ 2 อาจจะ offer เงินเดือนให้สูงกว่าที่ 15% แต่หากคุณต้องเลือกร่วมงานคงจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยากสักเท่าไร นอกจากนี้แล้วการที่บริษัทมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีด้วยแล้วนั้น ยังส่งผลต่อเรื่องของ turnover พนักงานด้วยโดยตรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน เพราะพนักงานจะมีความเครียดจากเรื่องอื่นน้อยๆน้อยกว่า สุดท้ายแล้วในระยะยาวบริษัทก็ย่อมมีการเติบโตที่สูงกว่ามาก

สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งได้อย่างไร?

วิธีแรกของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งคือการเข้าใจว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สิ่งสำคัญคือสิ่งที่ทางเราได้เกริ่นไปก่อนหน้าคือการที่ต้องทำให้มั่นใจว่าวัฒนธรรมที่เราต้องการให้เป็น กับวัฒนธรรมที่เป็นอยู่จริงๆมีความสอดคล้องกัน หากองค์กรเราต้องการวัฒนธรรมเช่นไรก็ควรที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนจากกระบวนที่เกิดขึ้นจริงไปทีละนิดก็จะช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งในระยะยาวเกิดขึ้นได้

อีกสิ่งหนึ่งคือการที่ผู้นำองค์กรต้องตระหนักเสมอว่าขนาดขององค์กรนั้นไม่ได้ส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร จริงอยู่ว่าองค์กรที่มีขนาดใหญ่อาจจะดูว่าการทำวัฒนธรรมองค์กรนั้นทำได้ยากมากกว่า แต่จริงๆแล้วองค์กรขนาดใหญ่ อาจจะมีการจัดการเริ่มตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเข้ามา ให้มีการเทรนนิ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนทราบถึงเป้าหมายและสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ มีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา ในขณะที่องค์กรขนาดเล็กอาจจะมีการทำงานไม่เป็นระบบ พยายามโปรโมตว่าอยู่กันแบบครอบครัวตลอดเวลา แต่ถึงเวลาจริงกลับดุด่าพนักงาน เอาเปรียบเรื่องต่างๆอย่างสม่ำเสมอก็เป็นได้

อย่างสุดท้ายคือการที่ผู้บริหารองค์กรเข้าใจว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่แค่เรื่องการคำนึงถึงภาพลักษณ์องค์กรเพียงอย่างเดียวหากคุณต้องการทำองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ในใจลึกๆแล้วคุณยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น สิ่งที่คุณพยายามทำจะส่งผลกระทบในแง่ลบกลับมาแทน พนักงานจะรู้สึกได้ทันทีว่าองค์กรนั้นไม่มีความจริงใจกับพนักงานอย่างแท้จริง วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

corporate culture


You may also like

>