Enter your text here...
Supervisor คือตำแหน่งอะไร
การทำงานหัวหน้านั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน พเราะไม่ใช่แค่ Hard Skill ที่ต้องมีทักษะในเนื้องานที่ทำแล้ว แต่ยังต้องมี Soft Skill รู้จักการจัดการและบริหารคนอีก และการทำงานหัวหน้าก็แยกย่อยออกไป ทั้ง Supervisor และ Manager ที่ดูเผิน ๆ อาจจะมีความคล้ายคลึงกันแต่ในความเป็นจริงนั้น การทำงาน ทักษะ ของหัวหน้างานใน 2 ตำแหน่งนี้ต่างกันสิ้นเชิง ซึ่งเราจะมาเรียนรู้การทำงานของซูเปอร์ไวเซอร์กันว่า เป็นอย่างไร
โดยปกติแล้ว ตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์จะเริ่มจากการเป็นพนักงานธรรมดา ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เข้ามาดูแลแผนก คนที่จะได้รับตำแหน่งนี้จึงมักเป็นคนที่ทำงานดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
หน้าที่ของ Supervisor
การทำงานซูเปอร์ไวเซอร์นั้นมีหลากหลายหน้าที่ อาทิเช่น
- ตั้งเป้าหมายของทีมในแต่ละวัน
- จัดการเดดไลน์ให้งานเสร็จทันเวลา
- ดูกระบวนการทำงานไม่ให้ติดขัด
- ฝึกสอนพนักงานให้สามารถทำงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเป้า
- ประเมินผลงานพนักงาน ให้ฟีดแบ็กในการทำงาน
- คิด วิเคราะห์ และจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานในแต่ละวัน และรายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้จัดการรับทราบ
- ตอบคำถาม รับฟังคำติชมจากทั้งพนักงานและลูกค้า หากมีข้อสงสัยสามารถนำเรื่องขึ้นไปปรึกษาผู้จัดการได้
- ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญเช่น การจ้างคน การไล่ออก หรือการเลื่อนตำแหน่ง แต่สามารถให้คำแนะนำกับผู้จัดการได้
ทักษะของคนที่เป็น Supervisor
การเป็นซูเปอร์ไวเซอร์นั้น จำเป็นต้องมีหลากหลายทักษะ ดังนี้
- ทักษะการสื่อสาร : ตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์เป็นงานที่ต้องติดต่อพูดคุยกับคนในทีมหรือในแผนกค่อนข้างมาก ทักษะการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซูเปอร์ไวเซอร์จำเป็นต้องสื่อสารในเรื่องความคาดหวัง เป้าหมาย รวมไปถึงคำแนะนำติชมต่าง ๆ ให้พนักงานรับทราบได้เข้าใจถูกต้องตรงกัน
- การแก้ปัญหา : การทำงานซูเปอร์ไวเซอร์นั้น ต้องเจอกับปัญหารายวัน โดยเฉพาะปัญหาหน้างาน จึงจำเป็นที่คนที่รับตำแหน่งนี้จะต้องเป็นนักแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม สามารถแก้ปัญหาได้ไว และหาทางออกร่วมกันเพื่อรักษาความสงบในทีมและให้การทำงานราบรื่น
- ความเป็นผู้นำ : การมีทักษะความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการรับตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ ที่ต้องคอยเป็นแรงบันดาลใจ กำกับ ดูแล ให้คำแนะนำ และกระตุ้นการทำงานของทีมให้เป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้
- การคิดวิเคราะห์ : การมีทักษะการคิดวิเคราะห์จะทำให้ซูเปอร์ไวเซอร์สามารถวิเคราะสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน สามารถให้ข้อมูล และร่วมตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี
- จัดการเวลาและเรียงลำดับความสำคัญ : ทักษะการจัดการเวลาถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ เนื่องจากตำแหน่งนี้จะเป็นด่านแรกที่ต้องคอยจัดการงานของตัวเองและงานของทีม ให้สำเร็จลุล่วงภายในกรอบเวลาที่วางเอาไว้ การรู้จักลำดับความสำคัญจึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก ๆ
- ความฉลาดทางอารมณ์ : ตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ต้องคอยเป็นคนรับเรื่องและรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทีม การจัดการอารมณ์ตัวเองและจัดการอารมณ์คนอื่นจำสำคัญ การมีความฉลาดทางอารมณ์นั้น จะช่วยให้ซูเปอร์ไวเซอร์แก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้
- การสอนงานและพัฒนาทักษะ : หากพนักงานเก่ง ก็จะทำให้งานซูเปอร์ไวเซอร์ง่ายขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ซูเปอร์ไวเซอร์จะต้องเห็นทักษะของพนักงานแต่ละคน และคอยช่วยพัฒนา สอนงาน เสริมทักษะให้เก่งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเติบโตในทีมและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
Supervisor แตกต่างอย่างไรกับ Manager
แม้ว่าซูเปอร์ไวเซอร์และผู้จัดการจะเป็นตำแหน่งหวัหน้างานเหมือนกัน แต่กลับมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะเห็นได้ดังต่อไปนี้
หน้าที่ความรับผิดชอบ
- ผู้จัดการ หรือ Manager จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ ผู้จัดการจะเป็นผู้วางเป้าหมาย วางแผนงาน กำหนดภาระหน้าที่ และเป็นคนมองภาพกว้างของทีม รวมถึงโฟกัสไปที่ปัจจัยภายนอกทีมมากกว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อยที่อยู่ในทีม
- ซูเปอร์ไวเซอร์ จะมีหน้าที่จัดการภายในทีม และเป็นคนนำคำสั่งของผู้จัดการมาปฏิบัติตาม ผ่านการควบคุม ดูแล กำกับการทำงานของคนที่อยู่ในทีม เมื่อผู้จัดการตัดสินใจออกมาแล้วว่าแต่ละทีมมีเป้าหมายอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของซูเปอร์ไวเซอร์ที่จะตัดสินใจว่า จะทำงานนั้นให้สำเร็จอย่างไร เป็นคนมองภาพเล็กและทำงานออกมาให้สำเร็จ โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งกับปัจจัยภายนอก
สโคปของงาน
- ผู้จัดการ จะเป็นคนกำหนดนโยบาย และตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เป็นคนมองภาพใหญ่ในการทำงาน และสื่อสารกับผู้บริหาร หรือเฉพาะกับลูกค้ารายใหญ่ ๆ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กร
- ซูเปอร์ไวเซอร์ จะเป็นคนรับนโยบายมาปฏิบัติ และดูแลการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญ แต่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาในเรื่องเล็กที่เกิดขึ้นรายวันได้ ซูเปอร์ไวเซอร์จะมองไปที่รายละเอียดของการทำงานในแผนก และติดต่อจะติดต่อกับคนภายนอกองค์กรเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้า
การจ้างงาน
- ผู้จัดการ จะมีสิทธิ์ตัดสินใจในเรื่องการจ้างงาน ไล่ออก ประเมินผลงานของพนักงานเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงจัดการสร้างโปรแกรมพัฒนาเสริมทักษะพนักงาน
- ซูเปอร์ไวเซอร์ มีหน้าที่ฝึกสอนงานและจัดหาเครื่องมือเพื่อให้พนักงานทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพ คอยกระจายงานภายในทีม แต่ไม่มีสิทธิ์จ้างงาน ไล่ออก เลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน ในส่วนการประเมินงานนั้น ซูเปอร์ไวเซอร์สามารถร่วมประเมินงานพนักงานได้ และให้คำแนะนำกับผู้จัดการเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo