5 วิธีแก้ปัญหาพนักงานมาสายที่ใช้ได้จริง
พนักงานมาทำงานสายปัญหาโลกแตกที่หลายองค์กรต้องเผชิญอยู่ และยิ่งจะเป็นปัญหามากขึ้นไปอีกถ้าธุรกิจของคุณนั้นต้องเน้นในเรื่องความตรงต่อเวลา เช่นการให้บริการลูกค้า การเปิดหน้าร้านต่างๆ การมาสายย่อมส่งผลต่อทั้งองค์กรและเพื่อนร่วมงานอย่างแน่นอน บ่อยครั้งที่คุณเองในฐานะ HR ก็อาจจะรู้ปัญหาอยู่แต่ด้วยงานหลายๆอย่างที่ถาโถมเข้ามานั้นทำให้คุณเมินเฉยต่อปัญหาเล็กน้อยอย่างการมาสายไป สุดท้ายสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอาจก่อปัญหาใหญ่ให้กับองค์กรคุณทีหลังก็เป็นได้
ทำไมคุณถึงควรใส่ใจกับปัญหาการมาสาย
เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนเคยมาทำงานสาย โดยเฉพาะในกรุงเทพที่เราทราบกันดีว่าการจราจรก่อนยุคโควิดนั้นสาหัสขนาดไหน แม้ว่าการมาสายเพียงไม่กี่นาทีบางครั้งอาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แต่หากพนักงานในบริษัทของคุณเริ่มที่จะมาสายเป็นประจำแล้วล่ะก็ แม้จะเพียงไม่กี่นาที อาจจะถึงเวลาที่คุณต้องเริ่มให้ความใส่ใจกับพนักงานคนนี้แล้ว มาดูกันดีกว่าว่าการทำงานสายจะส่งผลต่ออะไรบ้าง?
1. ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
เชื่อหรือไม่ว่าหากอยู่ดีๆพนักงานคนหนึ่งเริ่มที่จะมาสาย การมาสายอาจเป็นปัจจัยแรกๆที่ช่วยทำให้คุณมองเห็นสัญญาณอะไรบางอย่าง โดยมากแล้วพนักงานที่มาตรงเวลานั้นมักจะมาพร้อมกับความกระตือรือร้นที่มากกว่า นอกจากนี้การมาสายเล็กๆน้อยดูเผินๆอาจจะไม่มีอะไรแต่คุณอาจจะประหลาดใจที่เวลาที่สูญไปมารวมๆกันในแต่ละปีมันมากกว่าที่คุณคิดมากๆ
2.ส่งผลเสียต่อ teamwork
ถ้ามีพนักงานคนหนึ่งมาสายบ่อยๆ และบริษัทไม่มีการจัดการอะไร พนักงานที่มาตรงต่อเวลารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ ยิ่งถ้าเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน สุดท้ายการทำงานร่วมกันก็จะเป็นไปได้ยากกว่าเดิม ซ้ำร้ายหากพนักงานคนที่มาตรงเวลารู้สึกว่าบริษัทไม่ได้มีการเอาจริงเอาจัง พนักงานคนนั้นๆก็มีแนวโน้มว่าจะมาสายด้วยเช่นกัน
3.ลูกค้าไม่พอใจ
บริษัทเกือบทุกที่ย่อมมีเวลาเปิดปิดและให้บริการ ลูกค้าย่อมคาดหวังว่าจะได้ซื้อสินค้า หรือได้รับบริการอย่างทันท่วงที ในกรณีที่ในทีมงานมีหลายคนก็ยังอาจจะไม่กระทบต่อความพึงพอใจลูกค้าเท่าใดนัก แต่หากมีคนเดียวและคนๆนั้นมาสายและลูกค้าต้องรอแหง่กแล้วล่ะก็ ร้อยทั้งร้อยเลยว่าลูกค้าคงได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีเท่าไร และเค้าก็คงจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าจากเจ้าอื่นแทน
วิธีแก้ปัญหาพนักงานมาสายที่ใช้ได้จริง
คุณคงพอจะเห็นแล้วว่าทำไมปัญหาพนักงานมาทำงานสายจึงไม่ควรปล่อยไว้ และควรจะจัดการอย่างเร่งด่วนที่สุด เราเข้าใจดีว่าโดยมากแล้วปัญหานี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่อย่างไรก็ดีก็มีหลายๆสิ่งที่ HR ยังสามารถทำได้
1.กำหนดเวลาเข้าออกงานและประกาศให้แน่ชัด
หลายต่อหลายองค์กรโดยเฉพาะ SME อาจจะไม่ได้มีการกำหนดให้แน่ชัด และถือว่าบางอย่างอาจจะพออะลุ่มอะล่วยกันได้ แต่เราแนะนำว่าการกำหนดนโยบายจะช่วยให้คุณลดเวลาในการจัดการเรื่องพวกนีไปได้มาก โดยอาจจะมีตั้งแต่
- เวลาเข้าออกงาน และทำให้แน่ใจว่าว่าพนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเวลากะนี้คือเวลาเริ่มงาน
- นโยบายเมื่อพนักงานมาทำงานสายว่าจะมีผลอะไรบ้าง
- กรณีมีเหตุจำเป็นมาสาย ต้องรายงานโดยตรงต่อใคร และเหตุจำเป็นที่อนุโลมให้มีอะไรบ้าง
2.ใส่ใจกับพฤติกรรมในช่วงทดลองงาน
ระยะเวลาทดลองงาน 3 เดือนเป็นเวลามากเพียงพอที่คุณจะได้ทำการเรียนรู้ถึงพฤติกรรมโดยทั่วไปของพนักงานคนนึง หากคุณเริ่มเห็นพฤติกรรมอย่างการมาสาย แล้วไม่มีการตักเตือนให้ปรับปรุงตั้งแต่อยู่ในช่วงทดลองงาน ซ้ำร้ายยังบรรจุให้เป็นพนักงานประจำรับรองได้เลยว่าการแก้ไขหลังจากนั้นจะยากอย่างแน่นอน ดังนั้นแล้วลองหันมาให้ความใส่ใจกับช่วงเวลาทดลองงานและหากพฤติกรรมไม่เหมาะสมแล้วล่ะก็จงอย่ากลัวว่าจะขาดคนทำงาน เพราะการทำงานร่วมกับคนที่ไม่ใช่นั้นยากกว่าการหาคนใหม่แน่นอน
3.หาระบบมาจัดการ track เวลาเข้าออกงาน
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พนักงานไม่กลัวที่จะมาสายก็เพราะว่าระบบบันทึกเวลาเข้าออกงานของบริษัทนั้นไม่มีประสิทธิภาพ หลายๆที่อาจเป็นเพียงการใช้ใบลงเวลา หรือที่แย่กว่านั้นก็คือไม่มีอะไรเลยแต่ใช้ดูเวลาเอาวันต่อวัน ลองหาโปรแกรมจำพวก HR และเครื่องสแกนใบหน้า หรือลายนิ้วมือมาใช้ร่วมกันดู นอกจากจะเชื่อได้ถึงความถูกต้องแล้ว การเรียกดูเวลาทำงานย้อนหลังก็ทำได้ง่ายอีกด้วย
4.พูดคุยทันที
อย่ารอจนคุณหรือหัวหน้ารู้สึกโกรธและรำคาญใจจากปัญหานี้จนรู้สึกปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว เพราะนั่นหมายความว่าคนอื่นๆในทีมอาจจะทนไม่ได้แล้วก็เป็นได้ พูดคุยเพื่อรับรู้ถึงปัญหาของพนักงานที่มาสายทันทีเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ทำให้พนักงานเข้าใจว่าเวลาที่ควรพร้อมสำหรับทำงานคือเวลาเข้างาน และหาทางออกของปัญหาร่วมกันหากมีเหตุผลที่ดีเพียงพอ นอกจากนี้การเรียกคุยยังทำให้พนักงานที่มาสายรู้ด้วยว่าหัวหน้าอย่างคุณไม่ได้ปล่อยปละละเลย
5.จัดการคนที่มาสายอย่างจริงจัง
สำหรับคนที่ไม่มีเหตุผลในการมาสายที่ดีเพียงพอ และยังคงพฤติกรรมมาสายอย่างต่อเนื่องแม้ว่าคุณจะได้ทำตาม 4 ข้อที่เราแนะนำไปแล้ว อาจจะถึงเวลาต้องใช้ไม้แข็งในการจัดการโดยการออกใบเตือนเพื่อให้รู้ว่าการมาสายเป็นพฤติกรรมที่ HR อย่างคุณจะไม่ปล่อยไว้ และจัดการตามนโยบายบริษัทที่คุณได้ประกาศไว้อย่างจริงจังต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการมาสายจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของการทำงาน แต่หากพนักงานของคุณมีเหตุผลที่จำเป็นจริงๆและการทำงานก็ยังทำได้เต็มประสิทธิภาพแล้วล่ะก็ การพูดคุยและหาทางออกให้พนักงานคนนั้นก็เป็นทางเลือกที่เข้าท่า สุดท้ายก็อย่าลืมอธิบายให้คนในทีมคนอื่นๆเข้าใจตรงกันก็จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo