Culture fit ก็เป็นคำยอดนิยมที่ชาว HR น่าจะได้ยินหรือพูดติดปากกันมาเป็นเวลานานไม่น้อย เจ้าตัว culture fit เองนั้นก็เลยไม่ใช่คำใหม่อะไรสักเท่าไร องค์กรต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรมาขึ้นเรื่อย ๆ แนวคิดของมันก็เกิดจากคำถามที่ว่าอะไรล่ะที่ทำให้เรารู้ว่าพนักงานนี้นั้นเหมาะกับองค์กรหนึ่ง ๆ culture fit ก็เลยเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยในการหาคำตอบนั้น การจ้างพนักงานที่มีตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ คนเองก็เริ่มมีการเสนอความคิดใหม่ว่า การจ้างคนอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเป็นคนที่ตรงกับ culture fit แบบ 100% ก็ได้
Culture fit คืออะไร? มาทำความเข้าใจกันก่อน
Culture fit ถ้าเราตีความกันแบบง่าย ๆ เลยก็คือการที่พนักงานนั้นสามารถเข้ากันได้ในด้านวัฒนธรรมขององค์กร มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการขององค์กร แต่จริง ๆ แล้วความหมายของ culture fit ในแต่ละองค์กรเองนั้นก็อาจแตกต่างกันได้นิดหน่อย ไม่เหมือนกันสักทีเดียว เช่นองค์กร A อาจจะมอง culture fit เป็นแค่เรื่องของการสกรีนผู้สมัครว่า ผู้สมัครรายนั้น ๆ จะส่งผลต่อองค์กรอย่างไร ในขณะที่องค์กร B อาจจะมอง culture fit เปรียบเสมือนเป็นกรอบเบื้องต้นที่องค์กรคาดหวังว่าผู้สมัคร และพนักงานจะปฏิบัติตัวตามนั้น
อย่างไรก็ดีถ้าเราสังเกตดี ๆ แล้วการทำเช่นนี้จะมีปัญหาใหญ่หลวงอยู่ประการหนึ่งด้วยเช่นกัน คือเมื่อเรามองหาคนที่เหมาะกับองค์กรเรา fit กับวัฒนธรรม ณ ปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเราคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรมันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป ซึ่งหากสุดท้ายวัฒนธรรมมีการปรับเปลี่ยน คนที่เข้ามาฟิตในตอนแรกนั้นอาจจะเป็นคนที่ไม่ใช่ในภายหลังก็เป็นได้
คำสาปของ culture fit
ด้วยธรรมชาติของมนุษย์เราเองนั้นมักจะมองหาคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน เราจึงมักจะเข้าใจไปว่าการทำงานให้เกิดผลดีที่สุดนั้นก็จำเป็นที่จะต้องหาคนที่อยู่ในรูปแบบเดียวกันกับวัฒนธรรมองค์กรเราด้วยเช่นกัน โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่มีการกำหนดสิ่งที่เราต้องการออกมาเป็น checklist และทำการกรองคนที่ไม่ตรงกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นออกไป แต่พอองค์กรมีลักษณะเช่นนี้แล้วนั่นหมายความว่าองค์กรจะเริ่มไม่มีความแตกต่าง ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องจำเจ องค์กรก็ยากที่จะเติบโตได้
แล้วทำไมองค์กรยังตามหาคนที่มี culture fit
อ่านมาถึงตอนนี้คงเริ่มเกิดความสับสนว่า culture fit ดูจะเป็นอะไรที่อยู่ในฝั่งของ fix mindset มาก ๆ แล้วทำไมหลายองค์กรยังพยายามหาคนที่มี culture fit อยู่อีก ก็อย่างที่เราได้ให้ความคิดเห็นไปในตอนต้นว่าคนเรานั้นมักจะมองหาคนที่เป็นเหมือนกับเรา องค์กรจึงมักเชื่อว่าคนที่สามารถเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กรนั้นจะสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ง่าย สามารถเติบโตได้ภายในองค์กร ตัวอย่างเช่น หากบริษัทแนวสตาร์ทอัพ มองหาคนก็มักจะมองหาคนที่เป็นคนแบบแนวสตาร์ทอัพ ถ้าเจอผู้สมัครที่มีแนวคิดเคร่งครัดกฏระเบียบ ก็อาจจะไม่เหมาะกับองค์กร ซึ่งจริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครนั้นไม่เหมาะกับองค์กรเสมอไปก็เป็นได้
ไม่มองหา Culture fit แล้วจะดูที่อะไร?
จริง ๆ แล้วองค์กรเองนั้นก็ยังสามารถพิจารณาผู้สมัครที่มีความเป็น culture fit ได้อยู่ เพียงแต่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาในมุมมองอื่น ๆ ควบคู่เพิ่มเติม เช่น
Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัว พนักงานนั้นควรมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ๆ นั่นหมายความว่า ณ ตอนที่องค์กรสัมภาษณ์ เค้าอาจจะดูไม่เหมาะสมกับองค์กร แต่จริง ๆ แล้วนั่นอาจเป็นเพราะองค์กรปัจจุบันที่เค้าทำงานอยู่มีลักษณะแบบนั้นแล้วเค้าปรับตัวให้กลมกลืนได้ หากพนักงานมีความสามารถด้านนี้สูง ก็สามารถไว้ใจได้เลยว่าเค้าจะสามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์ใหม่ได้อย่างแน่นอน และในทางกลับกันหากผู้สมัครไม่มีความสามารถด้านนี้ แม้ว่าตอนรับเข้ามาเค้าจะตรงกับวัฒนธรรมองค์กรเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง ผู้สมัครรายนี้ก็จะเจอกับความยากลำบากอย่างแน่นอน
Diversity หรือความหลากหลาย ความสามารถในการรับรู้ว่าคนในทีมมีความแตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การที่รู้ว่าคนเราแต่ละคนมีแนวคิด ไอเดีย การปฏิบัติต่อสิ่ง ๆ หนึ่งคนละแนวทางกัน จะช่วยให้คน ๆ นั้นสามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหากพนักงานไม่มีจุดนี้แล้ว เมื่อคนในองค์กรทำอะไรผิดแปลกไปจากที่เค้าเคยทำ ก็จะเกิดข้อสงสัย และสุดท้ายก็จะลุกลามไปเป็นข้อขัดแย้งในที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว วัฒนธรรมองค์กรที่ดีนั้นอาจจะไมใช่เรื่องของการที่เชื่อทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันไปหมด แต่เป็นเรื่องของการที่พนักงานสามารถทำความเข้าใจถึงความแตกต่าง และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายนี้อย่าปล่อยให้คำว่า culture fit มากำหนดกรอบและทำให้คุณสับสนในการจ้างพนักงานเข้ามาร่วมทีมคุณ
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo