เมื่อไม่นานมานี้ Gen Z เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และเป็นครั้งแรกที่ในที่ทำงานจะมีคนถึง รุ่นมาทำงานด้วยกัน ได้แก่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z ซึ่งคนแต่ละรุ่น ก็มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป และเราจะมาพูดคุยกันเรื่องนี้ใน Webminar ในตอนที่ชื่อว่า “กลยุทธ์บริหารคนต่างเจน สร้างทีมเวิร์กในองค์กร”
ลักษณะนิสัยในการทำงาน ของคนแต่ละเจน : Baby Boomer , Gen X, Gen Y, Gen Z
คนแต่ละเจน ก็มีประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป อันทำให้นิสัย วิธีการทำงานของแต่ละรุ่น แตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
Baby Boomer (คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2489-2507)
คนที่เป็น Baby Boomer หรือคนที่มีอายุระหว่าง 79-61 ปี จะมีลักษณะนิสัยที่ความเชื่อมั่นในองค์กร ทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนัก พร้อมที่จะทำงานล่วงเวลา เพื่อให้งานเสร็จ และให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ คนเจน Baby Boomer ชอบการทำงานเป็นลำดับขั้น อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ตำแหน่ง นอกจากนี้ คนเจน Baby Boomer ยังมีความจงรักภักดีต่อองค์กรสูงมาก พวกเขามักจะทำงานที่บริษัทหนึ่งเป็นระยะเวลาหลายสิบไป และให้ค่ากับความมั่นคงในอาชีพ
อย่างไรก็ตาม คนเจน Baby Boomer มักจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสสูงมาก และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงอาจทำให้คนวัย Baby Boomer มักจะมีปัญหากับคนอื่นในที่ทำงาน
Gen X (คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2508-2522)
คนเจน X หรือคนที่มีอายุระหว่าง 60-46 ปี จะชอบทำงานอย่างอิสระ รับผิดชอบงานของตัวเองได้ ไม่ชอบให้คนมาจู้จี้จุกจิก และจะโฟกัสที่ผลลัพธ์ของงานมากกว่าวิธีการ และเนื่องจากตอนนี้ เจน X เป็นพ่อแม่คนแล้ว คนเจน X จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับ Work-Life Balance พวกเขาพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่องาน แต่งานนั้นต้องไม่ไปกระทบเวลาส่วนตัวมากจนเกินไป
นอกจากนี้ เจน X ยังมองหาความมั่นคงในสายงาน และรักองค์กรที่พร้อมที่จะพัฒนาและให้โอกาสพนักงานในเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ และแม้ว่าเจน X จะจงรักภักดีกับองค์กร แต่ความรักองค์กรนั้นก็มีข้อจำกัด เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นในชีวิตด้วย
Gen Y (คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2523-2540)
คนเจน Y หรือคนที่มีอายุระหว่าง 45-28 ปี จะให้ความสำคัญกับการทำงานที่ตอบโจทย์ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ต้องตอบโจทย์เป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิต คนเจน Y มักจะทำงานด้วยความมั่นใจ รวดเร็ว ว่องไว ยืดหยุ่น ทำงานเป็นทีม ประนีประนอมสูง และไม่อยากทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้ผล แต่จะเปิดรับเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การทำงานสัมฤทธิ์ผลมากขึ้นไป นอกจากนี้ คนเจน Y ยังให้ค่าความสำคัญกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ
คนเจน Y จะโฟกัสไปที่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้นพวกเขาจึงพร้อมที่จะทำงานล่วงเวลา หรือทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด เพื่อพัฒนาทักษะให้ดีขึ้น นอกจากนี้ เจน Y ก็ยังต้องการให้คนเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาทำไปแล้วมีความหมาย ต้องการคำชม รางวัล และฟีดแบ็กจากการทำงานด้วย
Gen Z (คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2541-2565)
คนเจน Z หรือคนที่มีอายุระหว่าง 27-3 ปี มักมีความคาดหวังกับงานค่อนข้างมาก ทำให้พวกเขาค่อนข้างที่จะเลือกงานที่ตอบโจทย์ต่อชีวิต ทั้งในด้านอาชีพและชีวิตส่วนตัว คนเจน Z ต้องการงานที่มีเงินเดือนสูง แต่งานนั้นก็ยังเป็นงานที่มี Work-Life Balance ที่ดี เพราะเจน Z เป็นเจนที่ให้ค่าความสำคัญกับสุขภาพจิตมาเป็นอันดับ 1 และชอบให้คนอื่นมาช่วยไกด์งานให้แล้วเอาไปคิดต่อเอง มากกว่าที่จะมาจัดการงานให้ทั้งหมด
นอกจากนี้ คนเจน Z ยังชอบการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่จำกัดการทำงานเอาไว้ที่ออฟฟิศอย่างเดียว และด้วยเหตุผลทั้งการที่เจน Z อยากทำงานได้เงินเดือนดี สวัสดิการเยี่ยม แต่กลับไม่พร้อมที่จะทำงานล่วงเวลา จึงทำให้หลายคนมองว่า เจน Z ทำงานด้วยยากมาก
อุปสรรคในการทำงานกับคนต่างเจน
- สื่อสารกันคนละแบบ คนแต่ละรุ่น ก็มีความถนัดในสื่อสารที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของคำพูดและวิธีการ เช่น คนเจน X เมื่อมีอะไรก็จะใช้วิธีการโทรศัพท์ไปหา เพราะสะดวกรวดเร็วและคุยจบไวมากกว่า ในขณะที่คนเจน Z มองว่า การโทร. หาเป็นการรบกวน และจะชอบใช้การแชตหรือส่งอีเมลมากกว่า เพราะมีหลักฐานการคุยงาน
- ถูกเหมารวม แม้ว่าลักษณะของคนแต่ละเจนจะต่างกัน ก็ใช่ว่าบุคคลนั้นจะมีลักษณะนิสัยเหมือนคนเจนเดียวกันไปเสียหมด เช่น คนจากเจน Baby Boomer จะคิดว่าคนเจน Z ขี้เกียจ ทำงานอยากได้เงินเยอะ ๆ แต่กลับไม่ทุ่มเททำงานเท่ากับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปดูที่รายบุคคลและปัจจัยแวดล้อมในเรื่องอื่นด้วย
- คาดหวังต่องานต่างกันไป คนต่างเจน ก็มีความคาดหวังในเรื่องการทำงานที่ต่างออกไป บางคนทำงานเพื่อหวังที่จะอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ บางคนทำงานเพื่อหวังความก้าวหน้าในอาชีพ บางคนทำงานเพราะสามารถบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวได้ดี รวมไปถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน ชั่วโมงทำงาน ผลตอบแทนจากการทำงาน สวัสดิการ ก็ยังเป็นเรื่องที่คนต่างเจน คาดหวังต่างกันอออไป
วิธีการจัดการ เมื่อต้องทำงานกับคนต่างเจน
- สร้างบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้าง เมื่อแต่ละคนที่มีประสบการณ์และวัยที่แตกต่างกัน ต้องมาทำงานด้วยกัน ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งในการทำงาน แต่การที่ภายในองค์กรสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับทักษะและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคนแล้ว จะช่วยให้การทำงานของคนต่างวัยรายรื่น นอกจากนี้ องค์กรควรกระตุ้นให้ทุกคนได้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เห็นว่าคนแต่ละคนนั้น มีความเก่งเฉพาะตัว ไม่ได้ถูกเหมารวมมีมีนิสัยที่ไม่ดีเหมือนคนในรุ่นเดียวกัน
- มีความยืดหยุ่นในการทำงาน การยืดหยุ่นในการทำงานนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่เฉพาะในเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมเวลาในการทำงาน สวัสดิการ และการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้วย เช่น การเปิดโอกาสให้พนักงานเลือกได้ว่าจะมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือเลือกทำงานที่บ้าน เพราะบางคนมองว่าควรเอาเวลาเดินทางมาเป็นเวลาทำงานให้บริษัทมากกว่า และทำงานที่บ้านช่วยเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่า
- มอบโอกาสและความก้าวหน้าอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่เจนไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีความอยากก้าวหน้าในอาชีพ อยากทำงานแล้วงานของตัวเองออกมาดี ดังนั้น การที่บริษัทส่งเสริมการเรียนรู้และร่วมพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยให้พนักงานเลือกคอร์สเรียน เวลาเรียน และวิธีการเรียนได้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้พนักงานนำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้ในการทำงาน และช่วยเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นให้เพื่อนร่วมงาน ก็จะส่งเสริมให้การทำงานมีศักยภาพ และขับเคลื่อนองค์กรไปได้อีกระดับ
- ฟังเสียงจากทุกคน หนทางหนึ่งที่เราจะรู้ความต้องการของคนในแต่ละเจนได้ คือการที่เรารู้ว่าแต่ละเจนนั้นต้องการอะไร การรับฟังพนักงานและนำข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุง จะช่วยให้เราสามารถสร้างองค์กรที่ดีขึ้นมาได้ และไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปรอฟังความเห็นของพนักงานตอนประเมินปลายปีเท่านั้น แต่เราสามารถฟังความเห็นพนักงานได้จาก Pulse Survey, การประเมินผลงาน, หรือการสร้างกิจกรรมที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมได้แสดงความคิดเห็นด้วย
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะคนรุ่นไหน แต่พนักงานทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ทุกคนอยากทำงานที่มีคุณค่า มาทำงานด้วยความสุข ได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม ได้รับการปฏิบัติจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอย่างดี และได้รับโอกาสเติบโตในหน้าที่การเงิน ซึ่งเราทุกคนสามารถรวมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเหล่านี้ได้ หากได้ร่วมกันนำองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาองค์กรมาแชร์และปฏิบัติร่วมกัน เพื่อการทำงานที่ราบรื่นต่อไป
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo