ในโลกของการทำงานแล้ว ไม่มีใครที่อยากถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุจากลูกจ้าง หรือเพราะบริษัทขาดทุนจนเป็นเหตุต้องปิดกิจการ ซึ่งเมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว กฎหมายแรงงานก็ได้คุ้มครองลูกจ้างเอาไว้ ด้วยการกำหนดให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ให้ด้วย แต่ก็มีบางกรณีเช่นกัน ที่เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง บริษัทไม่ต้องจ่ายชดเชยใด ๆ ซึ่งเราจะมาเรียนรู้เรื่องนี้ และวิธีการรับมือ เมื่อถูกเลิกจ้าง

สาเหตุการเลิกจ้าง ที่ลูกจ้างมีได้รับเงินชดเชย

เมื่อถูกเลิกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานแล้วลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยเกือบทุกกรณี หากพิสูจน์ทราบว่าสาเหตุของการถูกเลิกจ้างนั้นไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง ไม่มีการทำงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ทุจริตในหน้าที่ หรือทำให้บริษัทเสียหาย รวมไปถึงกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หรือมีการย้ายสถานที่ทำงาน แต่ลูกจ้างไม่สะดวกที่จะไปด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยเช่นกัน

ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยอะไรบ้าง

  1. ค่าชดเชย : เมื่อถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย โดยคำนวณจากระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานอยู่กับบริษัท
  2. ค่าตกใจ : หรือ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าตกใจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทได้มีการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และถูกเลิกจ้างด้วยกรณีใด
  3. เงินชดเชยวันลาพักร้อน : หากลูกจ้างมีวันลาพักร้อนคงเหลือก่อนที่จะถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องเอาวันลาพักร้อนมาคิดเป็นเงินสมทบชดเชยให้ลูกจ้างก่อนออกงานด้วย
  4. เงินประกันการทำงาน : ในการทำงานบางตำแหน่ง จะมีการเก็บเงินประกันก่อนที่จะเข้าทำงาน หากเกิดกรณีนี้ ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับเงินประกันการทำงานหากถูกเลิกจ้าง
  5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : หากบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อถูกเลิกจ้าง ทั้งในส่วนของลูกจ้างที่เป็นเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม และในส่วนของนายจ้างที่เป็นเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ
  6. เงินอื่น ๆ : หากบริษัทมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญา หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินลูกจ้างอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับเงินเช่นกัน

เงินชดเชย - ค่าตกใจ กรณีถูกเลิกจ้าง คิดยังไง

ตามกฎหมายแรงงานแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากการทำงาน และในกรณีที่บริษัทเลิกจ้าง หรือเลิกกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ลุกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าตกใจเพิ่มอีกเช่นกัน ดังนี้

ค่าตกใจ

หากนายจ้างต้องการบอกเลิกจ้างพนักงาน ต้องมีการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า โดยระบุทั้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลที่จะเลิกจ้าง และรายชื่อของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งการเลิกจ้างงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าดังนี้

  • เลิกจ้างทั่วไป ในกรณีนี้ นายจ้างต้องบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น หากเป็นพนักงานบริษัท รับเงินเดือนทุก 30 วัน นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตกใจอย่างน้อย 1 เดือน 
  • เลิกจ้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงาน ลดจำนวนลูกจ้าง ในกรณีนี้ นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือบอกกล่าวน้อยกว่า 60 วัน ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยอย่างน้อย 2 เดือน
  • ย้ายสถานประกอบการ กรณีนี้ ต้องมีการบอกกล่าวลูกจ้างอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินค่าจ้าง 1 เดือน แต่ถ้ามีการบอกล่าวล่วงหน้า แต่ลูกจ้างไม่อยากย้าย ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิ์ได้ 

เงินชดเชย

การคำนวณเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างนั้น เป้นการคำนวณที่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ลูกจ้างอยู่กับบริษัทหรือองค์กร ดังนี้

  • ทำงานไม่ถึง 120 วัน ไม่ได้ค่าชดเชย
  • ทำงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน
  • ทำงาน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน
  • ทำงาน 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน
  • ทำงาน 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี วันได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน
  • ทำงาน 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
  • ทำงาน 20 ปีขึ้น ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน

เลิกจ้างกรณีไหนบ้าง ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

แม้ว่ากรณีเลิกจ้างส่วนมาก ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย แต่มีบางกรณีเช่นกันที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือ

ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่

คำว่าทุจริตต่อหน้าที่ อาจเป็นการทุจริตที่ผิดในทางกฎหมายอาญา เช่น ลูกจ้างยักยอกทรัพย์สินของบริษัทไปเป็นของตัวเอง โกงเงินบริษัท ทำร้ายร่างกายคนอื่น ปลอมเอกสาร หรือในบางกรณีที่ไม่ได้เป็นความผิดทางอาญา บริษัทก็สามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้อาจจะเป็นการที่พนักงานมีการกระทำบางอย่างที่ทำให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ แต่เป็นช่องว่างของกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่ายจัดซื้อไปรับเงินมาจากซัพพลายเออร์ เพื่อดันให้บริษัทของตัวเองซื้อสินค้าของเจ้านี้ , ขายสูตรลับ ขายความลับบริษัทให้คนอื่น ถือเป็นความผิดทุจริตต่อหน้าที่เช่นกัน

จงใจให้บริษัทได้รับความเสียหาย

ในบางกรณี ลูกจ้างอาจจะต้องการเกิดความเคืองแค้นบางอย่างต่อบริษัทหรือต่อตัวพนักงานคนอื่น จึงกระทำการด้วยความตั้งใจเพื่อให้บริษัทเกิดความเสียหาย และแม้ว่าความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น แต่ลูกจ้างวางแผนจงใจให้เกิดความเสียหายก็ผิดแล้ว เช่น เอาความลับของบริษัทไปบอกบริษัทคู่แข่ง, เปิดเผยเรื่องราวเสื่อมเสียของบริษัท, ปล่อยข่าวเฟคนิวส์ที่ก่อให้เกิดความตกใจ แม้ว่าบริษัทจะยังไม่เสียหาย ก็สามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชยได้เช่นกัน

ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง

แม้ว่าพนักงานจะไม่ได้ตั้งใจทำความเสียหายต่อบริษัท แต่หากการกระทำของลูกจ้างขาดความระมัดระวัง ละเลยไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ และสุดท้ายบริษัทได้รับความเสียหายร้ายแรง ก็เป็นเหตุให้บริษัทสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เช่น พนักงานฝ่ายผลิตไม่ปฏิบัติตตามขั้นตอนการทำงาน ไปตั้งค่าผลิตชิ้นส่วนเอง และชิ้นส่วนนั้นถูกนำไปติดตั้งและขายออกไปแล้ว จนเกิดความเสียหาย บริษัทต้องเรียกคืนสินค้า แม้ว่าพนักงานจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท แต่ก็ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง

หากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับและกระทำความผิด นายจ้างต้องดูก่อนว่า การกระทำของลูกจ้างมีโทษร้ายแรงหรือไม่ หากเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างออกได้ทันทีโดยไม่ต้องเตือนก่อน เช่น ทะเลาะวิวาทกันรุนแรงในที่ทำงาน ปล่อยเงินกู้ในที่ทำงาน แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง ต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนตามกระบวนการ เช่น มาสาย แต่งกายผิดระเบียบ โดยหากลูกจ้างกระทำความผิดซ้ำ ๆ แม้ได้รับจดหมายเตือนแล้ว นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบและข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น ต้องคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ห้ามเปิดเผยเรื่องเงินเดือน, ห้ามดื่มสุราในเวลางาน, ห้ามพนักงานเล่นแชร์ปล่อยกู้ แต่หากคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น บังคับให้ทำงานโดยไม่มีโอที ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามได้

ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันควร

หากนายจ้างพบว่า ลูกจ้างขาดงานเกินกว่า 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควร ไม่ว่าการลานั้นจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ ก็เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยได้ ยกเว้นว่ากรณีที่พนักงานขาดงานเกิน 3 วันเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น ประสบอุบัติเหตุจนมาทำงานไม่ได้ น้ำท่วมบ้านจนออกมาไม่ได้ แบบนี้นายจ้างไม่มีสิทธิ์เลิกจ้าง

ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

หากลูกจ้างต้องโทษจำคุก ส่งผลกระทบต่อการทำงานและภาพลักษณ์องค์กร นายจ้างได้รับความเสียหาย ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ถูกเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ แต่การจะเลิกจ้างได้ ลูกจ้างคนนั้นต้องได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เช่น ลูกจ้างเมาแล้วขับ มีโทษพิพากษาจำคุก แม้ว่าการกระทำของลูกจ้างจะไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่บริษัทก็มีสิทธิ์เลิกจ้างได้เช่นกัน

ลูกจ้างฟ้องได้ไหม ถ้าโดนไล่ออกกะทันหัน

หากลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดแต่กลับถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนจำนวนเงินจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุงาน และหากมีการเลิกจ้างกะทันหัน ต้องมีการจ่ายค่าตกใจตามลักษณะของการเลิกจ้าง ซึ่งในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย ลูกจ้างสามารถร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ หรือใช้สิทธิทางศาล และยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานได้

แต่ในกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรง ได้รับหนังสือเตือนแล้วแต่ยังกระทำความผิดซ้ำ ๆ (หนังสือเตือนที่มีผลบังคับไม่เกิน 1 ปี) นายจ้างสามารถไม่จ่ายค่าชดเชยได้ และลูกจ้างไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้จากนายจ้างได้เลย

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

เลิกจ้าง


You may also like

>