ในปัจจุบัน บริษัทจำนวนมากเริ่มหันมาใช้ OKR เพื่อประเมินพนักงานกันมากขึ้น ซึ่งการทำ OKR จะช่วยให้เป้าประสงค์ของบริษัทและพนักงานสอดคล้อง เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่การทำ OKR นั้น ยังสร้างความสับสนให้กับพนักงานอยู่ อีกทั้งการจัดการ okr management ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ อาจจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ได้ ซึ่งเราจะมาชี้เป้า แนะนำวิธีการเขียน OKR ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องแก้ซ้ำไปซ้ำมา

OKR คืออะไร มีประโยชน์อะไรต่อองค์กร

OKR คือเครื่องมือที่ใช้ในการตั้งเป้าหมายและกำหนดการวัดผลที่ช่วยให้องค์กร ทีม และพนักงาน เพื่อให้สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ OKR ถูกริเริ่มจากบริษัทอย่าง Intel โดย Andy Grove มาตั้งแต่ปี 1974 และบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกอย่าง Google Dell Deloitte Dropbox Spotify ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ OKR เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร

OKR จะประกอบด้วย O = วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของเรา และ KR = key result หรือตัววัดผลที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง

ประโยชน์ของ OKR นั้น คือการที่ทำให้พนักงานทราบว่า เป้าหมายของบริษัทและเป้าหมายของทีมที่ต้องทำคืออะไร ทำให้พนักงานสามารถโฟกัสการทำงานที่เป็นประโยชน์โดยไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่น เพราะทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีเป้าหมายเดียวกัน ทุกเป้าหมายที่ทุกคนร่วมกันสร้าง ทุกความพยายามและการลงมือปฏิบัติ จะมีความเชื่อมโยงกัน รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม ทุกคนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้พนักงานรู้สึกทะเยอทะยานที่จะไปให้ถึงผลสำเร็จของงาน และทุกคนเห็นการปฏิบัติงานว่าตอนนี้กำลังทำงานไปในทิศทางไหน สามารถติดตามความคืบหน้าได้อย่างเป็น  รูปธรรม ติดขัดหรือมีความท้าทายตรงไหน เราสามารถช่วยเหลืออะไรกันได้บ้าง และสร้างสรรค์พื้นที่ให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น

OKR และ KPI แตกต่างกันอย่างไร

การทำ OKR มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ KPI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเครื่องมือวัดประสิทธิภาพพนักงานทั้ง 2 อย่างนั้น ค่อนข้างแตกต่างกัน และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน วิธีการสังเกตความแตกต่างของ KPI และ OKR มีดังนี้

หน้าที่

KPI

OKR

จุดประสงค์ในการใช้เครื่องมือ

เพื่อใช้ติดตามการทำงาน โดยที่จะโฟกัสในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น รายได้, จำนวนลูกค้า, ผู้เข้าชม

ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

ตัวชี้วัด

จะใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า CSAT, อัตราการเติบโตของรายได้ในแต่ละเดือน

จะใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างหลากหลาย กว้าง ยืดหยุ่นมากกว่า วัดผลในหลายมิติมากกว่า

กรอบระยะเวลา

ใช้กรอบระยะเวลาในระยะยาวและต่อเนื่อง

ใช้กรอบระยะเวลาในระยะสั้นตามรอบ เช่น ไตรมาส

เป้าหมาย

รักษาอัตราการเติบโตของรายได้ที่ 10%

ทำยอดขายใหม่ให้ได้ 100 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1

ทั้งนี้ หากองค์กรไหนต้องการการ “ติดตามผล” ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ KPI จะมีประสิทธิภาพมาก แต่หากองค์กรไหนต้องการ “บรรลุเป้า” และต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว OKR จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

วิธีการสร้าง OKR ให้จบในครั้งเดียว ไม่ต้องแก้ซ้ำไปซ้ำมา

  1. เริ่มจากการตั้งเป้าหมาย : ตั้งเป้า OKR ควรเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย เห็นแล้วรู้ทันทีว่าคืออะไร ไม่ต้องตีความ รวมทั้งเมื่อพนักงานเห็นแล้วเกิดแรงขับเคลื่อนอยากไปให้ถึงเป้า การตั้งเป้า OKR ควรใช้ภาษาที่สื่อให้เห็นถึงการลงมือทำ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าเป้าหมายนี้ ควรสำเร็จในตอนไหน
  2. กำหนดการวัดผล : การวัดผลนั้นควรเป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจง เป็นตัวเลข สามารถวัดผลได้ เป็นการตั้งเป้าหมายและกำหนดการวัดผลที่ “เกินตัว” แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยเราอาจจะย้อนกลับไปดู performance ในอดีตว่าเป็นอย่างไร และมีจุดไหนที่เราสามารถนำมาปรับปรุงได้บ้าง รวมไปถึงการกำหนดกรอบเวลาว่าควรจะสำเร็จตอนไหน
  3. กลับไปดูที่เป้าหมาย ต้องมั่นใจว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกัน : เป้าหมายของพนักงาน ทีม และบริษัทต้องสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันไม่เพียงเฉพาะในทีมเดียวกัน แต่ทำงานร่วมกันข้ามทีม และไม่เน้นการมอบหมายให้พนักงานทำ แต่เน้นให้พนักงานคิดขึ้นมาเอง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานและสร้างความรับผิดชอบ รู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าของต่องานที่ทำ
  4. เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ : อย่ามอบหมายวัตถุประสงค์ที่มากเกินไปเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าควรจะโฟกัสกับงานไหน โดยอาจจะจำกัดวัตถุประสงค์ไว้ที่ไม่เกิน 3 อย่าง เพื่อให้ง่ายในการจัดการและสามารถวัดผลได้แม่นยำ
  5. เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม : การเปิดโอกาสให้คนในทีมเห็นและสร้าง OKR ร่วมกันนั้น จะทำให้ทุกคนเกิดการยอมรับว่า สิ่งที่จะทำนั้นมีโอกาสสำเร็จหรือไม่ และทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบได้ว่า OKR ทั้งรายบุคคลและรายทีม สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของบริษัท และทำได้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
  6. ใช้คำที่สื่อคือการลงมือทำ : ไม่ว่าจะเป็นการเขียน Objective หรือ Key Result ควรใช้คำกริยาที่สื่อให้เห็นถึงการกระทำที่ชัดเจน เช่น บรรลุ เพิ่ม พัฒนา ลด ส่งมอบ เป็นต้น
  7. คอยอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ : เราต้องคอยติดตามผลการทำงานและประเมินงานกันเป็นระยะ ว่าตอนนี้ทำงานถึงไหน ติดขัดอะไรบ้าง และสามารถปรับเปลี่ยน OKR ได้หากมีปัญหา

ข้อควรระวังในการเขียน OKR พร้อมตัวอย่าง

การตั้ง OKR มีหลักสำคัญที่สามารถจำได้ง่าย ๆ คือ ตั้งเป้าเข้าใจง่ายแต่เกินตัว, วัดผลเป็นตัวเลขได้, มีกรอบเวลาที่ชัด และ ควรโฟกัสที่จุดไหน

ตั้งเป้าหมายที่เข้าใจง่าย แต่ทำได้ยาก และไม่ใช่งานที่ต้องทำอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญในการตั้งเป้า OKR นั้น คือการตั้งเป้าที่ เฉพาะเจาะจง เข้าใจได้ด้วยภาษาง่าย เป็นเป้าหมายที่ “เกินตัว” แต่ยังต้องตั้งบนพื้นฐานของความเป็นจริง เพื่อผลักดันขีดความสามารถของตัวพนักงานและองค์กรให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับ และพาทุกคนออกมาจากคอมฟอร์ทโซน โดยที่เราต้องถามตัวเองว่า “เราอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร” ไม่ใช่ “เราจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร“

ตัวอย่าง เช่น OKR ที่เป็น Objective ของฝ่ายการตลาด เช่น

Objective: เพิ่ม Brand Awareness ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Key Result: เพิ่มยอด engagement ในโซเชียลมีเดีย โดยมุ่งเน้น traffic จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 30% ภายในไตรมาส 1
Key Result: ออกแคมเปญอย่างน้อย 3 แคมเปญ มุ่งเป้าที่ลูกค้าใน SEA ภายในไตรมาสนี้

หรือ OKR ของฝ่ายขาย เช่น

Objective : เพิ่มรายได้ให้ถึง 50 ล้านจากลูกค้าในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Key Result: ปิดดีลกับลูกค้าระดับ Enterprise ให้ได้ 10 ดีลภายในไตรมาส 1
Key Result: แต่ละดีลที่ปิดได้ต้องมีค่าเฉลี่ยดีลละ 1,000,000 บาท 

สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในการตั้ง OKR คือการตั้ง OKR ที่ง่ายเกินไป สามารถทำเสร็จได้ในระยะไม่นาน หรือต้องเป็นเป็นงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้วเช่น

ตัวอย่าง

Objective : ขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ
Key Result: ส่งอีเมล 500 ฉบับให้กับลูกค้าใหม่
Key Result: โทรหาลูกค้าใหม่ 300 คน

จะเห็นได้ว่า การตั้งเป้าหมายแบบนี้ค่อนข้างจะเน้นไปที่สิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ได้เน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งการวัดผลนั้น คือการวัดผลที่เน้นปริมาณของสิ่งที่ทำ โดยไม่เน้นผลลัพธ์ เช่น conversion rate (ตัวเลขที่เปลี่ยนจากผู้ที่สนใจให้มาเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า) หรือ Revenue Growth (การเติบโตของรายได้)

ไม่ตั้งเป้าหมายแบบนามธรรม ไม่มีตัวเลขวัดผลได้ ไม่ใช่ OKR

สิ่งที่ต้องระวังให้มากเกี่ยวกับการตั้ง OKR คือการที่เป้าหมายนั้นเป็นนามธรรม วัดผลด้วยตัวเลขไม่ได้ ซึ่งหากวัดผลด้วยตัวเลขไม่ได้ จะทำให้พนักงานไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองตอนนี้อยู่ตรงไหน เดินมาถูกทางหรือไม่ ไม่รู้ว่าจุดไหนคือความสำเร็จ และจุดไหนที่ต้องปรับปรุง ทีมจะไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่าต้องปรับปรุงการทำงานในจุดไหน เพราะขาดเครื่องมือชี้วัด

การดูง่าย ๆ ว่า OKR นั้นไม่ใช่นามธรรม คือการตั้งเป้าตัวเลขที่ใช้ในการวัดผล ซึ่งเราสามารถเริ่มตั้งได้โดยเริ่มจากการตั้งตัวเลขไว้ในใจ เช่น

ตัวอย่าง

Objective: เพิ่มการมีส่วนร่วมในทีม
Key Result: จัดประชุมทีมเป็นประจำ
Key Result: ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันกับคนต่างแผนก

การตั้ง OKR แบบนี้ จะเกิดคำถามตามมาเช่น การจัดประชุมทีมเป็นประจำนั้น แค่ไหนถึงเรียกว่า “ประจำ” ทุกวัน ? ทุกอาทิตย์ ? และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับคนต่างแผนกนั้น จะเกิดคำถามเช่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการทำงานร่วมกันกับคนต่างแผนก ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้อะไรเป็นตัววัด

กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน วัดที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่การการกระทำ

การกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เปรียบเสมือนการกำหนดเดดไลน์ให้กับการทำงาน ว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้น ควรจะทำให้ได้ใกล้เคียงเป้าหมายตอนไหน และหากไม่มีกรอบเวลาที่มากำหนดแล้ว จะทำให้เราไม่รู้สึกว่าต้องเร่งรีบในการไปให้ถึงเป้าหมาย และขาดความรับผิดชอบต่อเป้าหมายนั้น ๆ ที่ควรจะไปให้ถึง

อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราควรจะโฟกัสไปที่ ผลลัพธ์ของการกระทำ ไม่ใช่ เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะการวัดผลนั้นจะต้องเน้นที่ผลลัพธ์ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของทีมและบริษัท เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ตัวอย่าง

Objective: เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
Key Results: เพิ่มคะแนนความพึงพอใจของลูกค้า (CSAT) ให้ได้ถึง 90%
Key Results: ลดเวลาในการตอบคำถามลูกค้าให้เหลือแค่ 6 ชั่วโมง
Key Results: เพิ่ม Net Promoter Score ให้ได้ถึง 70

แม้ว่า OKR นี้จะดี แต่จะเห็นได้ว่าไม่มีกรอบการทำงานของแต่ละชิ้นว่าควรจบที่ตอนไหน และคนที่ได้รับมอบหมาย OKR นี้จะไม่รู้สึกว่าควรทำงานให้เสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีความชัดเจนว่าควรจะรีวิวผลงานตอนไหน และเราควรจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไรเพื่อให้งานที่ทำนั้นสำเร็จภายในกรอบเวลา

อย่าตั้ง OKR มากเกินไป จนไม่รู้จะไปโฟกัสที่จุดไหน

การตั้ง OKR ที่กว้าง หรือต้องทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน จะทำให้เกิดความสับสน และทำให้พนักงานจัดลำดับความสำคัญไม่ถูกว่า ควรต้องทำอะไรก่อน โฟกัสอยู่ที่จุดไหน และไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ส่งผลให้งานนั้นไม่ได้ผล พนักงานรู้สึกท้อแท้ ใช้ทรัพยากรที่มีไปโดยเปล่าประโยชน์ และมีผลกระทบเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานที่ตามมา

การตั้ง OKR ไม่ให้มากเกินไป ไม่ควรเกิน 2-3 objective และแต่ละ objective ไม่ควรมีตัววัดผล ควรมีประมาณ 3-5 ข้อ

ตัวอย่าง 1

Objective 1: เพิ่มยอดขาย
Objective 2: ปรับปรุงการรักษาฐานลูกค้าเดิม
Objective 3: ปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่
Objective 4: ขยายตลาดใหม่
Objective 5: ลดต้นทุนการผลิตสินค้า

ตัวอย่าง 2

Objective: เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน
Key Result: จัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ในทีมทุกสัปดาห์
Key Result: ใช้เครื่องมือเพื่อเก็บฟีดแบ็กพนักงานใหม่
Key Result: เพิ่มยอดผู้เข้าตอบแบบสอบถาม 90%
Key Result: จัดสัมมนาบริษัท
Key Result: จัดคอร์สอบรมผู้นำให้พนักงานระดับผู้จัดการ 20 คน
Key Result: จัดวางเลย์เอาต์ออฟฟิศใหม่
Key Result: ปรับปรุงนโยบายของ HR ให้ตรงตามกับคำแนะนำของพนักงาน

จะเห็นได้ว่า ในตัวอย่างที่ 1 เป้าหมายของแต่ละอันไม่ได้เชื่อมโยงกัน แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่สำคัญจนทำให้จัดลำดับความสำคัญไม่ถูก ทำให้ไม่สามารถไปถึงแต่ละเป้าหมายได้ในระยะเวลาอันสั้น และในตัวอย่างที่ 2 นั้น พนักงานมีตัววัดผลที่มากเกินไป จนไม่รู้ว่าต้องทำอันไหนก่อน

วิธีเปลี่ยน OKR ที่ไม่ดี ให้กลายเป็น OKR ที่ดี

การเปลี่ยน OKR ที่ไม่ดีให้เป็น OKR ที่ดีได้ พนักงานต้องทำให้ OKR นั้นชัดเจน วัดผลได้ และโฟกัสถูกจุดว่าควรทำอะไร เช่น

ตัวอย่างที่ไม่ดี : ฝ่ายขายได้ตั้ง OKR มาดังนี้
Objective: ขายสินค้าให้ได้มากขึ้น
Key Results: โทรหาลีดให้มากขึ้น
Key Results: ปิดดีลให้ได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์นี้เป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป ที่ฝ่ายขายต้องทำอยู่แล้ว เมื่ออ่านแล้วไม่รู้สึกถึงแรงกระตุ้นให้ทำ และในส่วนของการวัดผล (key result) ก็เป็นการตั้งในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเซลล์โดยตรง ไม่มีความท้าทาย วัดผลไม่ได้ เน้นที่การกระทำมากกว่าผลลัพธ์ และไม่มีเป้าหมาย ไม่มีกรอบที่ชัดเจน หากอยากเปลี่ยน OKR นี้ให้เป็น OKR ที่ดี จะเปลี่ยนได้ดังนี้

Objective: เพิ่มรายได้จากลูกค้าที่เข้ามาใหม่
Key Results: ปิดดีลมูลค่า 1 ล้านบาท ให้ได้อย่างน้อย 20 ดีลภายในไตรมาสที่ 1
Key Results: เพิ่ม conversion rate เปลี่ยนจากลีดให้มาเป็นลูกค้า จาก 15% เป็น 20%
Key Results: เพิ่มรายได้จากช่องทางใหม่ให้ถึง 50 ล้านภายในไตรมาสนี้

จะเห็นได้ว่า OKR ที่เห็นนั้น เป็น OKR ที่อ่านแล้วรู้สึกอยากทำให้บรรลุเป้าหมาย เป็นเป้าหมายที่เกินตัว ท้าทาย แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เน้นไปที่ผลลัพธ์ที่วัดผลได้ ไม่ใช่งานที่ทำประจำวัน มีกรอบเวลาชัดเจน มีจุดโฟกัสที่ชัดเจนและทุกคนสามารถติดตามผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

โปรแกรม OKR : เครื่องมือวัดและติดตามผล

ด้วยเครื่องมือ OKR Software ที่ครบครันของ empeo โปรแกรมการบริหารงานบุคคลครบวงจร สามารถให้ HR จัดการ OKR ของทั้งบริษัทได้อย่างมีี่ประสิทธิภาพ ด้วยฟังก์ชั่น Goal management ที่ทำให้สามารถตั้งเป้าหมายของบริษัท ตั้งเป้าหมายของทีม และพนักงานสามารถตั้งเป้าหมายของตัวเองที่สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายของทั้งองค์กรได้ พร้อมด้วยฟีเจอร์ที่พนักงาน สามารถอัปเดตความคืบหน้าของตัววัดผลได้เป็นระยะ ตั้งค่ารอบประเมินผลงานของตัวเองได้ พนักงานสามารถเจ้าไปอัปเดตผลการทำงานว่าเข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน และโปรแกรมสามารถช่วยคำนวณเปอร์เซ็นต์ความคืบหน้าจากปัจจุบันและเป้าหมายได้

นอกจากนี้ หากบริษัทไหนที่ไม่ได้ให้พนักงานตั้ง OKR หรือ KPI เอง หัวหน้าทีมก็สามารถตั้งเป้าหมายและมอบหมายเป้านั้นให้กับพนักงานได้เช่นกัน และสามารถเพิ่มตัววัดผลของทีม ตัววัดผลของพนักงาน และมอบให้พนักงานเข้ามาอัปเดตความคืบหน้าของการทำ OKR ได้เช่นกัน

ในส่วนของ KPI นั้น empeo ก็รองรับการสร้างเป้าหมายที่ใช้ KPI เป็นตัวชี้ัวัด โดยที่เราสามารถสร้างเป้าหมาย KPI ได้เอง จะเพิ่มให้พนักงานคนเดียวหรือเพิ่มให้หลายคนก็สามารถทำได้เช่นกัน อีกทั้งพนักงานยังสามารถอัปเดต KPI ได้ด้วยตัวเอง และมีการแสดงผลเป็นสีว่า kpi นั้นผ่านหรือไม่

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ


Tags

okr


You may also like

>