เงินชดเชยเลิกจ้างเป็นกระบวนการที่ HR จะต้องเข้ามาดูแลอย่างถูกต้อง หลังจากที่มีการเลิกจ้างพนักงาน หรือไล่ออกอาจจะด้วยสาเหตุที่พนักงานทำงานได้ไม่ดี บริษัทปรับโครงสร้างองค์กรจนมีความจำเป็นต้องปลดพนักงานก็แล้วแต่ แต่สุดท้าย HR ก็เป็นผู้ที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องของเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ตรงตามเงื่อนไขเพื่อไม่ให้บริษัททำผิดเรื่องของกฏหมายแรงงานซึ่งจะมีเรื่องยุ่งยากตามมาในภายหลัง ทีนี้หากคุณยังไม่แน่ใจว่าเงินชดเชยมีวิธีการคิดอย่างไร บทความนี้จะช่วยให้คุณรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
เงินชดเชยเลิกจ้างคืออะไร สำคัญไหม?
แน่นอนว่าสิทธิของแรงงานนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของการจ้างงาน แต่สิทธิที่พึงมียังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการเมื่อโดนเลิกจ้างด้วย นั่นทำให้มีเรื่องของเงินเลิกจ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งพอพูดถึงการเลิกจ้างแล้วก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และหลาย ๆ ครั้งเนื่องจากเป็นการเลิกจ้างในเคสที่ออกกันไม่ดีก็มักจะทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นเคืองกัน จนบางครั้งนายจ้างอาจจะถึงกับไม่อยากจ่ายค่าชดเชยเลยทีเดียว แต่สุดท้ายแล้วเงินชดเชยเลิกจ้างก็เป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับโดยชอบธรรม ถ้าการเลิกจ้างไม่ได้เกิดจากการที่พนักงานลาออกเอง แต่เป็นการตัดสินใจจากฝั่งนายจ้าง กฏหมายย่อมให้ความคุ้มครองกับลูกจ้าง ยกเว้นในกรณีที่พนักงานมีการทำผิดดังต่อไปนี้ ก็จะไม่รวมในเงื่อนไขการได้รับเงินชดเชยตามมาตรา 119
- กระทำการทุจริตต่อหน้าที่โดยเจตนาให้กับนายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ละทิ้งหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควรเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบในการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฏหมาย และมีการตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายร้ายนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
- โดนพิพากษาให้จำคุก
เงินชดเชยเลิกจ้างตามอายุงาน
อ้างอิงจากพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ได้มีการระบุในเรื่องของค่าชดเชยไว้อย่างชัดเจนในกรณีที่มีการเลิกจ้าง โดยจะคิดจากอายุงานเป็นหลัก โดยพรบ.ในปี 2562 ได้มีการเพิ่มกรณีที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปเป็นอัตรา 400 วันแทน
1.อายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน
2.อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน
3.อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน
4.อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน
5.อายุงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
6.อายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่า 400 วัน
และจริง ๆ นอกจากเงินชดเชยเลิกจ้างในส่วนนี้แล้ว หากนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างนั้น ตัวนายจ้างเองยังจะต้องเสียเงินค่าตกใจให้พิเศษกับลูกจ้างอีกด้วย
เรื่องน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับเงินชดเชยเลิกจ้าง
นอกจากเรื่องของเงินชดเชยที่เราได้สรุปรวมมาให้แล้ว ยังมีเรื่องน่ารู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นในกรณีที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงเรื่องที่ HR อาจจะเผลอละเลยไป เช่น
- เมื่อพนักงานพ้นสภาพแล้ว ไม่ว่าสาเหตุจะจบแบบดีหรือไม่ดีก็ตาม และทางบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว อย่างไรก็ตามนายจ้างก็ยังต้องทำการออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานอยู่ดี ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะมีความผิดได้ ส่วนเนื้อความในจดหมายก็ขอให้มีเพียงเรื่องหลัก ๆ เช่นทำงานตั้งแต่ตอนไหนถึงตอนไหน ตำแหน่งอะไร
- สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ยังมีอยู่กับนายจ้าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่าง ๆ นั้นเป็นคนละส่วนกันยังคงต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามเดิม แม้ว่าจะเสียเงินก้อนค่าชดเชยไปแล้วก็ตาม
- ในกรณีที่มีการย้ายสถานประกอบการนายจ้างต้องติดประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากไม่ประกาศนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ และนอกจากนี้หากลูกจ้างไม่อยากย้ายที่ใหม่ ก็ยังมีสิทธิ์แจ้งนายจ้าง ละได้รับเงินชดเชยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานก็มีการอัปเดตเรื่อย ๆ ขอให้ผู้อ่านใช้บทความนี้เป็นเพียงไกด์ไลน์และเช็กกับพรบ.คุ้มแรงงานที่เป็นฉบับปัจจุบันเสมอ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจในเรื่องของเงินชดเชยกันมากขึ้นและปฏิบัติกันได้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo