Quiet Quitting เป็นคำที่เพิ่งมีกระแสเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยและแชร์ความคิดเห็นกันบนโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลามที่พูดถึง การทำงานที่ตัวยังทำอยู่ แต่ใจลาออกจากงานไปแล้ว และกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในบทสนทนานี้มากที่สุดก็คือคนเจน Z และ Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังจะเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ในบริษัทและกำลังจะเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่เป็น Senior หรือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่คุณกำลังจะรับเข้ามาทำงานในองค์กร
นี่จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่องค์กรจะต้องรีบโฟกัส กลับมาทบทวนตัวเองและปรับตัว เพราะถ้ากลุ่มคนที่จะเป็นกำลังหลักให้กับองค์กรเป็น Quiet Quitter อยู่เพื่อรับเงินเดือน แต่ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าองค์กรของคุณจะไม่สามารถเติบโตและก้าวทันคู่แข่งได้เลย งั้นลองมาทำความรู้จักว่าอะไรที่เป็นสาเหตุให้คนอยากลาออกแบบเงียบ ๆ อยู่ในใจ แล้วผู้นำองค์กร HR ควรจะรับมือไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร
Quiet Quitting คืออะไร?
ไม่ใช่การลาออกจากบริษัท หรือสิ้นสุดการเป็นพนักงานของบริษัทแต่อย่างใด แต่เป็นการที่พนักงานยังมาทำงานปกติ แต่ได้ลาออกจากการทำงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรืออยู่นอกเหนือ Job Description ไม่ได้พยายามทุ่มเท อุทิศชีวิตให้กับงานและองค์กร พวกเขาจะทำหน้าที่ของตัวเองแค่ให้พอเสร็จ ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ไม่มีการทำงานเชิงรุก หรือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อทำผลงานที่เหนือมาตรฐานและเติบโตในสายอาชีพ และจะไม่อยู่ดึก มาเร็ว ตอบงานนอกเวลาอีกต่อไป
ดูแค่นี้อาจจะคิดว่าไม่ได้ร้ายแรงหรือมีผลกระทบอะไร พวกเขาก็ยังทำงานให้บริษัทตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ แต่ถ้าหากคุณอยากให้บริษัทก้าวหน้า เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คุณก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยพลังของพนักงานที่มีความกระตือรือร้น มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานให้เต็มประสิทธิภาพหรือเหนือกว่า อีกทั้ง Quiet Quitter อาจจะเพิ่มภาระทำให้ทีมที่มีความกระตือรือร้นทำงานหนักมากกว่าเดิมและกลายเป็น Quiet Quitter คนต่อไป
แล้วอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานเป็น Quiet Quitter?
การที่พนักงานเปลี่ยนพฤติกรรมไป จากตอนแรกที่ทำงานดีตามมาตรฐานที่บริษัทคาดหวัง กลายเป็นคนที่ไม่พยายาม ไม่ทุ่มเทกับงานอีกต่อไป ทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ แน่นอนว่าต้องมีอะไรเป็นตัวกระตุ้นอย่างแน่นอน เช่น ทำงานเยอะแต่ผลตอบแทนน้อย ทุ่มเททำงานมากเท่าไหร่ก็เงินเดือนก็ยังเท่าเดิม หรือพยายามทำ Performance ของงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รับการโปรโมท ไม่มีการเติบโตในสายงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานคิดว่าจะทำเยอะหรือทำน้อยเงินก็เท่าเดิม แล้วทำไมเราจะต้องเหนื่อยขนาดนั้น หรือองค์กรที่บีบให้พนักงานต้องอุทิศชีวิตให้งานจนกินเวลาใช้ชีวิตหรือไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่เหนื่อยล้ามาก ๆ พวกเขาจะไม่อยากพยายามอีกต่อไป
HR ควรรับมือกับกับ Quiet Quitting อย่างไร?
จัดการปริมาณงานให้เหมาะสมและเท่าเทียม
ควรวางระบบในการทำงานให้ชัดเจนว่าแต่ละคนในทีม ใครต้องทำอะไรบ้าง งานไหนเป็นของใครกันแน่ และแต่ละคนจะมีปริมาณงานในแต่ละสัปดาห์เท่าไหร่ โดยอาจจะมีการประชุมและตกลงกับพนักงานร่วมกันเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด ทำให้ทุกคนในทีมได้งานในปริมาณที่สมเหตุสมผล ไม่ต้องมาทำงานนอกเวลางาน ไม่รบกวนวันหยุดพักผ่อน อีกทั้งได้รับงานอย่าง้ท่าเทียมกัน ไม่มีใครต้องคอยแบกงานเยอะ ๆ อยู่คนเดียว
ให้รางวัลเมื่อพนักงานทำงานได้ดี
สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานเมื่อพวกเขาทำงานออกมาได้ดี หรือมีพัฒนาการในการทำงาน หรืองานไหนที่ต้องลงทุนลงแรงอย่างหนัก หัวหน้าควรให้คำชื่นชมเพื่อให้พนักงานเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ หรืออาจจะให้เป็นรางวัลด้วยการพาไปเลี้ยงอาหาร ซื้อของขวัญให้บ้างตามความเหมาะสม ช่วยให้พนักงานอยากที่จะทำงานให้ดีแบบนี้อีกต่อไปเรื่อย ๆ ช่วยให้ทีมมีผลงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทอีกด้วย
ให้ค่าตอบแทนและการเติบโตในหน้าที่การงาน
การปรับเงินเดือน การออกโบนัส เป็นช่วงเวลาที่พนักงานจะรอคอยกันมากที่สุด เพราะพวกเขาอยากเห็นว่าสิ่งที่ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อทำงานหนักมาตลอดทั้งปี มันมีผลลัพธ์ที่ดีตอบแทนกลับมา คล้าย ๆ กับข้อก่อนหน้า เมื่อมีสิ่งตอบแทนที่เหมาะสมกับที่ลงทุนไป พนักงานก็จะอยากทำงานให้ได้มาตรฐานแบบนี้อีกเรื่อย ๆ นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งตอบแทนที่บริษัทสามารถให้ได้ก็คือ การเลื่อนตำแหน่งให้สำหรับผู้ที่ทำงานได้เข้าเกณฑ์และมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเปลี่ยนระดับ
รับฟังปัญหา เปิดโอกาสให้พนักงานได้ออกความคิดเห็น
ในการทำงานย่อมต้องเกิดปัญหาในจุดต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะกับตัวงาน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรืออื่น ๆ ซึ่งหัวหน้าควรรับฟัง ให้คำปรึกษาและเข้ามาช่วยแก้ไข พยายามเทคแอ็กชัน รีบแก้ปัญหาเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข อย่าปล่อยให้มีปัญหาค้างคาต่อไปเรื่อย ๆ จนพนักงานไม่อยากทำงาน เกิดความรู้สึกท้อแท้หรือ Burnout
สรุป
Quiet Quitting เป็นการที่พนักงานหมดกำลังใจ หมดไฟในการทำงานแล้ว แต่พวกเขายังไม่ลาออก ยังคงทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ เพียงแต่จะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำให้งานออกมาให้มีประสิทธิภาพ ทำแค่ให้งานเสร็จเฉย ๆ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้พนักงานมาถึงจุดนี้ก็มีหลายอย่าง เช่น เงินน้อยแต่งานหนัก ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน หรือทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ชีวิตตัวเอง วิธีการรับมือก็คือ การให้งานในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อทำงานดี ทำ Performance ได้ดี ก็ควรมีสิ่งตอบแทนตั้งแต่คำชม การขึ้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น นอกจากนี้อย่าลืมเปิดโอกาสให้พนักงานได้ Feedback ปัญหา และหาทางแก้ไขให้กับพวกเขา เพื่อทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานอยู่เสมอ
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo