การบริหารทรัพยากรมนุษย์หรือ Human resource management นั้นถือเป็นรากฐานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการบริหาร ในสมัยก่อนนั้นย้อนกลับไปยุคที่เน้นเรื่องของแรงงาน คนทำงานจะถูกมองเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งในการผลิตเท่านั้น กลับมาที่ยุคปัจจุบันที่ธุรกิจเองมีความหลากหลายมากขึ้น การแข่งขันที่สูงเป็นเงาตามตัวก็ทำให้องค์กรนั้นให้ความสำคัญกับคนมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง แม้ว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใด แต่โชคดีที่มีการศึกษาและพัฒนากันอย่างจริงจังมาก ๆ ทำให้ความรู้ด้านนี้พัฒนาไปเร็ว
ผู้จัดการและ HR ในปัจจุบันนี้ต่างก็เชื่อถึงเรื่องความสำคัญของคน ถ้าหากเราเดินไปถามถึงความเห็นด้านคน คำตอบที่ได้ก็คงจะไม่พ้นประมาณว่า คนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามาก ๆ แต่ปัญหาก็คือว่า การจัดการคนนั้นมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งเองผู้จัดการเองนั้นก็ไม่รู้ว่าจะ motivate คนในองค์กรอย่างไร? วันนี้ empeo เราเลยได้รวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์มาให้แบบย่อยง่าย ๆ
5 ข้อด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ HR ห้ามพลาด
1.ปัญหาหลักของการบริหารทรัพยากรมนุษย์
ผู้จัดการและ HR ในปัจจุบันนั้นต้องเจอความท้าทายหลากหลายอย่างในเรื่องของการบริหารคน แต่หากต้องแบ่งออกมาปัจจัยหลัก ๆ ก็จะมีดังนี้
- การจะได้รับความร่วมมือ ความผูกพันกับพนักงานจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าผู้จัดการจะมีความตั้งใจ แต่ด้วยคนจำนวนมากแล้วผลลัพธ์สุดท้ายก็มักจะเป็นแค่การหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ
- หลายครั้งปัญหาก็เกิดจากรูปแบบของการบริหารงานบุคคล และทรัพยากรที่ถูกแบ่งให้กับงานส่วนนี้ก็ไม่เพียงพอ
- ฝ่ายบริหารมักจะมีแนวคิดว่าการจัดการด้านคนนั้นทำให้คุณค่าของงานผู้จัดการนั้นด้อยลงไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วต้องอาศัยทั้ง 2 สิ่งเข้าด้วยกัน
2.การได้ใจพนักงาน
ทุกองค์กรต่างรู้กันดีว่าการจะบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้ได้ผลดีนั้น อย่างแรกต้องได้ใจพนักงานก่อน การจะสร้างความผูกพันกับพนักงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพนักงานมีเป็นจำนวนมาก และหลายครั้งเองนั้นเป้าหมายขององค์กรและพนักงานก็มักจะขัดแย้งกัน เช่นบริษัทต้องการโฟกัสที่เป้าระยะยาวในการทำกำไรให้กับบริษัทให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันตัวพนักงานเองนั้นก็มองที่เป้าหมายระยะสั้นเช่น ผลตอบแทนต่าง ๆ สวัสดิการ การได้รับการโปรโมต ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้วจะเห็นได้เลยว่าการจะให้พนักงานผูกพันกับองค์กร แต่เป้าหมายที่แตกต่างกันก็ทำให้ทำได้ยากมาก ๆ
การจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรนั้นต้องเกิดจากความไว้วางใจกัน แต่ปัญหาก็คือการจะเกิดความไว้วางใจระหว่างกันนั้นต้องใช้เวลาผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยกัน ในยุคนี้ที่คนเปลี่ยนงานกันไว และพนักงานก็มักจะมีแนวคิดว่าบริษัทใช้ประโยชน์จากพวกเค้า ทำให้พวกเขาเลือกที่จะมองผลตอบแทนเป็นหลัก พอเป็นเช่นนี้แล้วก็ทำให้ผู้จัดการและ HR ต้องไปนั่งขบคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุได้ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้
3.รู้จักกับ theory X and Y
ในช่วงปี 1960 นักจิตวิทยาสังคม Douglas McGregor ได้นำเสนอแนวคิดที่ช่วยอธิบายถึงความเชื่อของผู้จัดการที่มีต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน และเจ้าความเชื่อนี้เองก็ส่งผลต่อสไตล์ในการบริหารคน โดยเขาได้เรียกว่า theory X and Y ซึ่งแม้จะผ่านไปนานมากแล้ว แต่ก็ยังมีความสำคัญมากในปัจจุบัน
หากคุณเชื่อว่าคนในทีมนั้นไม่ชอบการทำงานและมีแรงจูงใจในการทำงานที่ต่ำ พนักงานนั้นจะเป็นต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงจะทำงานก็ต่อเมื่อได้รับแรงอะไรบางอย่างตอบแทน คุณก็จะมีสไตล์ในการทำ micromanagement และองค์กรที่เชื่อเช่นนี้ก็จะมีการทำลำดับชั้นค่อนข้างมาก เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลพนักงานได้อย่างทั่วถึง แต่ปัจจุบัน theory x นั้นได้เสื่อมความนิยมลงไปมาก ๆ
ในอีกมุมหนึ่ง theory Y นั้นมีมุมมองที่เป็นเชิงบวกกับพนักงาน ทฤษฎีนี้เชื่อว่าในตัวคนเรานั้นมีแรงผลักดันที่อยากจะทำงานออกมาให้ดี มีความรับผิดชอบในตัวเอง และมองว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มและทำให้ชีวิตท้าทายมากขึ้น ทฤษฎีนี้เริ่มมามีบทบาทในองค์กรสมัยใหม่กันมากขึ้นและทำให้พนักงานมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
4.เวลาคือความขัดแย้งและตัวแปรสำคัญ
การบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นหลัก ๆ จะต้องเจอกับเรื่องนี้กันแทบทุกบริษัท และก็เป็นปัญหาที่บริษัทก็ยังไม่สามารถแก้ไขกันได้ การที่จะได้มาซึ่ง talent ที่ช่วยไดร์ฟองค์กรได้นั้นต้องมีการวางแผนการที่ดีในระยะยาว องค์กรนั้นสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี แต่สำหรับการเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานเป็นหลักร้อย หรือพันคน และยิ่งถ้าเราเอาอายุพนักงานมาพิจารณาด้วย ยิ่งพนักงานมีอายุมากและความอาวุโสที่สูงมากก็ยิ่งทำให้ต้องใช้เวลามากไปด้วย และแน่นอนว่าการบริหารคนนั้นก็ไม่สามารถทำแบบเดียวกับระบบงานได้ ที่สามารถโล๊ะแล้วเอาระบบใหม่เข้ามาใช้ในทันที การจัดการงานบุคคลนั้นจำเป็นที่จะต้องคิดให้ดีในระยะยาว และแน่นอนว่าจะต้องโดนความกดดันระยะสั้นจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้จัดการที่มีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจรวมถึงประสบการณ์ในการจัดการคนจำนวนมากยังขาดแคลนอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้จัดการเองนั้นมักจะพัฒนาทักษะในสายอาชีพของตนเองมากกว่า พอมารวมกับปัจจัยอื่น ๆ เลยยิ่งทำให้การบริหารงานบุคคลจำเป็นต้องใช้เวลาเยอะมาก ๆ นั่นเอง
5.จะพัฒนาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไร?
จริง ๆ แล้วการพัฒนาการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นไม่มีทางลัด แต่ทางฝ่ายบริหาร ผู้จัดการและ HR เองจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนในสิ่งพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และโดยมากแล้วนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแตะในสิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่
- ผู้จัดการเองนั้นต้องมีความสามารถในด้านบุคคลมากยิ่งขึ้น การเก่งแต่งานอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว หากผู้จัดการยังคงใช้วิธีสื่อสารแบบทางเดียว ไม่ฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่พยายามทำความเข้าใจ และอธิบายให้มากขึ้น การปรับปรุงเรื่องทรัพยากรบุคคลเห็นทีก็คงจะสำเร็จไปได้ยากมาก ๆ
- การปรับเปลี่ยนการบริหารงานบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มจากก้าวใหญ่ ๆ เพราะการเริ่มต้นนั้นสำคัญที่สุด โดยอาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยที่เป็นพื้นฐานก่อนได้ตั้งแต่การคัดเลือกคน การกำหนดผลตอบแทน การเทรนนิ่ง และสิ่งอื่น ๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วจะมี impact ในระยะยาวขึ้นอีกมาก
- ให้เวลากับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราได้กล่าวไปในบทความช่วงแรก ๆ อย่ามองว่าการปรับเปลี่ยนจะทำได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่ต้องมองเป็นพันธกิจระยะยาวที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีเป็นอย่างน้อย ที่จะปรับเปลี่ยนตั้งแต่ในระดับบน ส่งต่อมิชชั่นความเชื่อไปยังพนักงานระดับต่อ ๆ ไป และคัดสรรคนที่ไม่อาจไปต่อกับองค์กรได้
การบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นงานที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นประตูที่เปิดโอกาสให้องค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อทำในเรื่องนี้ได้สำเร็จแล้วนั้นพนักงานเองก็จะมีแรงผลักดัน รู้สึกผูกพันกับองค์กรมากขึ้น และองค์กรเองก็จะกลายเป็นองค์กรที่ทรงพลัง พร้อมแข่งขันในโลกทุกวันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo