woman wtih imposter syndrome

Imposter syndrome อาการที่คนทำงานน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวว่าคุณจะประสบความสำเร็จมากมายสักเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่คุณยังรู้สึกได้เสมอก็คือความรู้สึกว่าคุณไม่เก่งพอ ทุกสิ่งที่เราได้มาวันนี้เกิดจากโชคช่วยเพียงเท่านั้น ตัวเราเองนั้นไม่คู่ควรกับสิ่งที่เราได้รับเลยสักนิด ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้จิตตก อาการข้างต้นที่กล่าวมานี้นั่นแหละคือ imposter syndrome

มาทำความรู้จักกับ imposter syndrome อีกสักนิด

จากที่เรากล่าวมาข้างต้นก็คงพอจะเห็นแล้วว่าเจ้าอาการของ imposter syndrome นี้ก็คือความรู้สึกของเราที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งแบบที่คนอื่นคิด ได้แต่คิดวนไปวนมาเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง สุดท้ายแล้วก็เกิดความสงสัยในตัวเอง แม้จะมีคนชื่นชมในความสำเร็จมากมายสักเพียงใด ก็คิดแต่ว่าตนเองไม่สมควรได้รับคำยกยอเช่นนั้น เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็จะรู้ว่าเรานั้นไม่เก่งจริง ยิ่งความรู้สึกพวกนี้สะสมเป็นเวลานานขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้  อาการที่อาจพบเจอได้อีกก็เช่น

  • ไม่คิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติเพียงพอ เช่นในการหางานใหม่ แม้ว่าคุณสมบัติของคนเหล่านี้จะเรียกได้ว่า overqualified เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเค้าก็จะมองว่าคุณสมบัติพวกเขาไม่ถึง
  • รู้สึกตัวเองเป็นคนหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ได้รับคำชมต่าง ๆ ได้รับรางวัล คนเหล่านี้จะไม่สามารถรู้สึกดีใจได้ เพราะลึก ๆ แล้วคิดว่าเค้ากำลังหลอกคนอื่นอยู่นั่นเอง
  • ชอบด้อยค่าตัวเอง หลายต่อหลายครั้งเมื่อมีคนตอบแทนอะไรให้กับสิ่งที่เค้าได้ทำให้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวเงินหรือของขวัญ เค้าจะไม่รู้สึกเลยว่าเค้าสมควรได้รับสิ่งเหล่านี้

คน 5 ประเภทที่เข้าข่ายเป็น imposter syndrome 

หลังจากเรารู้จักกับอาการของ imposter syndrome ไปไม่น้อยแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าเอาเข้าจริง แล้วก็มีคนบางประเภทที่ด้วยลักษณะนิสัยเข้าข่ายการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น จะมีอะไรบ้าง ลองดูได้ตามนี้เลย

1.Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ

คนที่เป็นคนรักความสมบูรณ์แบบนั้นเรียกได้ว่ามีคุณสมบัติในการเป็น imposter syndrome มากเลยทีเดียว เพราะบุคคลประเภทนี้จะตั้งเป้าหมายกับตัวเองและคนอื่นไว้สูงมาก ๆ และถ้าทำไม่ได้ขึ้นมา พวกเขาจะเกิดความสงสัยในความสามารถตนเองทันที แม้ว่าจริง ๆ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดีมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ด้วยทัศนคติแบบนี้ทำให้มีแนวโน้มมาก ๆ ที่พวกเขาจะรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่คนเก่งอะไร

2.Superman/superwoman ยอดมนุษย์เดินดิน

กลุ่มนี้จะทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้คนในสังคมเห็นว่าพวกเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากมายเพียงใด พวกเขายอมที่จะทำงานหนักขึ้นและหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้มาถึงสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือคนกลุ่มนี้จริง ๆ แล้วพยายามทำทุกอย่างเพื่อปิดบังความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของพวกเขา และเมื่อใดก็ตามที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคิด เมื่อนั้นความมั่นใจทุกอย่างก็จะพังลงอย่างรวดเร็ว

3.Natural genius อัจฉริยะตั้งแต่เกิด

บุคคลจำพวกนี้มักจะเชื่อในความสามารถของตัวเอง และอาจจะมีด้านใดที่โดดเด่นมาก ๆ เป็นพิเศษ พวกเขายังเชื่ออีกด้วยว่าความเป็นอัจฉริยะนั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น และมักจะวัดความสามารถตนเองว่าจัดการทำสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายและใช้เวลาน้อยเพียงใด คนในกลุ่มนี้มักจะมีความคาดหวังกับตัวเองสูง ให้ความสำคัญกับการทำให้สำเร็จได้ตั้งแต่การทำครั้งแรก พอทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่สามารถทำได้ไวเพียงพอ หรือทำได้อย่างง่ายดายเหมือนที่เคยทำกับสิ่งอื่น พวกเขาจะไม่เชื่อมั่นในตนเองอีกต่อไป

4.Expert ผู้เชี่ยวชาญ

คนประเภทผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในแบบที่เราพบเจอในสังคม แต่เป็นกลุ่มที่วัดความสามารถตัวเองจากสิ่งที่ตนเองรู้ พวกเขาต้องมั่นใจก่อนว่าพวกเขารู้ถึงทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ตามมาก็คือพวกเขาเชื่อว่าตัวเองไม่มีวันรู้ดีเพียงพอ จนเกิดเป็นความกลัวว่าจะถูกเปิดโปงว่าตนเองนั้นไร้ประสบการณ์ ไร้ความรู้  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นการที่ไม่กล้าสมัครงานเพราะคุณสมบัติเราไม่ตรงทุกอัน  หรือทำงานในด้านนี้มานานแต่ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเก่งเพียงพอ

5.Soloist มนุษย์ฉายเดี่ยว

เป็นกลุ่มคนที่ชอบทำงานคนเดียว ยึดคติความสำเร็จได้มาโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ทุกอย่างสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง และแน่นอนว่าในชีวิตความเป็นจริง มันก็จะมีหลาย ๆ สถานการณ์ที่เราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อให้งานสำเร็จได้ เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องขอให้ผู้อื่นช่วยอะไรบางอย่าง จะเกิดความรู้สึกว่าพวกเขากำลังล้มเหลวนั้นจะเกิดขึ้นอย่างทันที ด้วยแนวความคิดเช่นนี้ก็มักทำให้คนประเภทนี้เป็น imposter syndrome ได้ไม่ยาก

วิธีเอาชนะ imposter syndrome ที่ใช้ได้จริง

  • ฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดบวก เป็นเรื่องที่ดูแล้วเหมือนจะง่ายแต่เอาเข้าจริงสำหรับคนที่มีอาการโรคนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อย่างไรก็ตามลองเปลี่ยนมุมมองให้เชื่อในสิ่งดี ๆ ว่าเราสมควรได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิตดู
  • ลดการใช้ social สาเหตุหนึ่งที่เรามักจะเกิดอาการพวกนี้ก็เพราะเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และ social media เองนั้นก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีให้อาการเกิดเร็วขึ้น เมื่อแค่การไถเพียงนิดเดียวเราก็เปรียบเทียบสิ่งที่เราไม่มีกับคนจำนวนมากเรียบร้อยแล้ว  
  • เคารพและรักตัวเอง เชื่อมั่นในตนเอง บอกกับตัวเองบ่อย ๆ ว่าเพราะฉันตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ฉันจึงควรได้รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และสุดท้ายอย่าลืมใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น รักตัวเองให้มาก ๆ และอย่าไปสนใจมากจนเกินไปว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

hr, imposter, imposter syndrome


You may also like

>