การบริหารทรัพยากรบุคคลคืออะไร?
การบริหารทรัพยากรบุคคลนั้นหากพูดง่าย ๆ เลยก็คือการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงเข้ากับพนักงานในองค์กร ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วหัวข้อที่เกี่ยวโยงกับการจัดการทรัพยากรบุคคลนั้นจะเยอะมาก ๆ ตั้งแต่เรื่องของการรับคน ผลตอบแทน กระบวนการจ้างงาน การประเมินผล ความมีส่วนร่วมพนักงาน การพัฒนาองค์กร และอื่น ๆ อีกมากมาย
การบริหารทรัพยากรบุคคลก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการจัดการพนักงาน นั่นรวมไปถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านเกี่ยวกับคน จะเห็นได้เลยว่าเป็นงานที่ไม่ง่าย นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วยังเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงานอีกด้วย องค์กรไหนที่มีการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ดี ก็จะทำให้พนักงานมีความสุข ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการเติบโตขององค์กร
หลักการของการบริหารทรัพยากรบุคคล
งานบุคคลในปัจจุบันก็เปลี่ยนจากการที่เป็นแนวดั้งเดิม ที่เน้นเรื่องของงานแอดมินไปเป็นงานที่เน้นคุณค่าและการจัดการเชิงกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น HR เองก็จะเข้ามามีส่วนร่วมกับพนักงานทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นจะตอบโจทย์กับคนที่อยู่ในองค์กร และส่งผลเชิงบวก โดยหลักการแล้วทาง HR ก็จะเน้นโฟกัสไปที่ 2 สิ่งสำคัญนั่นก็คือ
1.ความผูกพันและทุ่มเทของพนักงาน ก่อนที่พนักงานจะรู้สึกผูกพันกับองค์กรได้ต้องเริ่มด้วยกฏของมาสโลว์ก่อนนั่นก็คือ พนักงานต้องรู้สึกว่าบริษัทให้ความมั่นคงกับพวกเขาได้ และในทางกลับกันพนักงานเองก็รู้ว่างานการจะมั่งคงพนักงานเองก็ต้องทุ่มเทให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน หน้าที่ของฝ่ายบุคคลจึงเป็นการจัดการและวัดผลเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานจะตอบความต้องการขององค์กร และสามารถเติบโตระยะยาวในหน้าที่การงานได้
2.ความสามารถในการทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมหลักที่ HR ให้ความสนใจ เพราะว่าความสามารถของพนักงานจะส่งผลโดยตรงกับการเติบโตขององค์กร และองค์กรที่ประสบความสำเร็จล้วนแต่ต้องพึ่งพาพนักงานในการช่วยกันผลักดันองค์กร ฝ่ายบุคคลจึงจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่เรื่องของการให้พนักงานรู้เป้าหมายตนเอง ไปจนถึงเรื่องการเทรนนิ่งพนักงานต่าง ๆ
การบริหารทรัพยากรบุคคลมีด้านใดบ้าง?
1.การจ้างงาน (recruitment)
การจ้างงานถือเป็นด่านแรกในการคัดพนักงานเก่ง ๆ เข้ามาร่วมทีม แต่กลับมีหลาย ๆ องค์กรไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร การมีกระบวนการสรรหาบุคลากรที่ดีจะทำให้องค์กรเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว สำหรับกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญจะมีตั้งแต่
- รายละเอียดงาน ต้องทำให้แน่ใจว่ารายละเอียดงานที่ใส่ลงไป เป็นสิ่งที่องค์กรมองหาจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการคัดลอกจากบริษัทอื่น ๆ มา
- แหล่งที่หา ในแต่ละแหล่งสำหรับการหาคนก็จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันไป
- การสกรีนผู้สมัคร เป็นกระบวนการที่เรียกได้ว่าท้าทายมาก ๆ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดในการจ้างผู้สมัครที่ไม่ใช่ได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลย
- การสัมภาษณ์และคัดเลือก ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่างก่อนที่จะรับคนเข้ามา ตั้งแต่เรื่องของสกิล คุณสมบัติต่าง ๆ ประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงความเข้ากันได้กับองค์กร
- ผลตอบแทน ต้องมีการสำรวจตลาดในตำแหน่งงานอยู่เรื่อย ๆ ว่ามีการให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร และผลตอบแทนที่บริษัทเราเสนอให้นั้นสามารถจูงใจผู้สมัครเก่ง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด
2.การเริ่มงานวันแรก (onboarding)
การมีระบบ onboarding ที่ดีนั้นจะช่วยให้พนักงานปรับตัวได้เร็วมาก ๆ กับองค์กรใหม่ พนักงานจะพร้อมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าองค์กรที่ไม่มีการจัดการด้านนี้ ฝ่ายบุคคลควรจะต้องมีการจัดการกระบวนการเริ่มงานให้ดีตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่เรื่องการเตรียมอุปกรณ์พนักงาน การจัดปฐมนิเทศ ไปจนถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ นอกจากจะช่วยเรื่องของประสิทธิภาพดังที่กล่าวมา ยังจะทำให้พนักงานใหม่เกิดความรู้สึกดี ๆ กับองค์กร รู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพ และส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีระบบการจัดการที่ดี
3.การพัฒนาบุคลากร (development)
เมื่อเราได้พนักงานเข้ามาร่วมงานด้วยแล้ว หน้าที่ยังไม่จบอยู่เพียงเท่านั้น องค์กรยังต้องการทำให้มั่นใจว่าพนักงานจะมีการเติบโตตลอดไม่ได้อยู่ที่เดิมเหมือนตอนที่เข้ามา การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของคนในองค์กรตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงระดับทีม และการพัฒนาบุคลากรด้านนี้เรียกได้ว่าเป็นด้านที่สร้างความน่าปวดหัวให้กับทีมงาน HR เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การประเมินพนักงาน และดูว่าทักษะด้านไหนที่พวกเขาต้องการเพิ่มเติม และให้การสนับสนุนพนักงานผ่านคอร์สเรียน และการเทรนนิ่งต่าง ๆ
นอกจากการพัฒนาในด้านของสกิลแล้ว การพัฒนาในเรื่องของอาชีพ และตำแหน่งงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคนที่ทำงานย่อมมีความกระหายที่จะเติบโตในอาชีพการงาน ถ้าหากว่าคนที่ทำงานรู้สึกว่าไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนแต่การเติบโตในอาชีพไม่มีก็ย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างแน่นอน
4.การรักษาพนักงาน (retention)
การรักษาพนักงานไว้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการหาพนักงานใหม่มาก ๆ การหาพนักงานใหม่มีความเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องของผลตอบแทนที่ใช้ในการจูงใจ ความเสี่ยงในการปรับตัวเข้ากับที่ทำงานใหม่ ความเสี่ยงด้านของสกิลที่ทำได้ไม่ดีเท่าคนก่อน โดยมากแล้วองค์กรมักจะเข้าใจว่าพนักงานลาออกเพราะเรื่องของผลตอบแทน แต่จริง ๆ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงด้วยเช่น
- ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ทั้งด้านงานและด้านคน
- หัวหน้างาน หรือผู้จัดการ
- เรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เข้ากับนิสัย
- สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี
และทั้งหมดนี้ก็เป็นการบริหารทรัพยากรบุคคลเบื้องต้นที่คนทำงานด้าน HR ควรรู้ไว้ และจะช่วยให้การจัดการพนักงานเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านตระหนักและเข้าใจกันดีมากยิ่งขึ้น
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo