empeo mascot saving for Provident fund กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) นั้น จัดว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่พนักงานเงินเดือนมักจะมองข้ามกัน หลัก ๆ เลยก็เพราะว่าต้องถูกหักออกจากเงินเดือนและเกิดความรู้สึกว่าเงินที่เอาไปจับจ่ายใช้สอยได้ลดลงเยอะมาก แต่อันที่จริงแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการชั้นยอด และไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะจัดสวัสดิการนี้ให้

รู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ provident fund คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างช่วยกันจัดตั้งขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นสวัสดิการและให้ลูกจ้างมีเงินเก็บออมไว้สำหรับยามเกษียณอายุ หรือออกจากงาน โดยเงินในกองทุนนั้นจะมาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกันคือ

  • ส่วนของลูกจ้าง หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “เงินสะสม” โดยสามารถสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน
  • ส่วนของนายจ้าง หรือ “เงินสมทบ” จะเป็นเงินที่ทางฝั่งของนายจ้างสมทบเข้าไปให้กับพนักงาน ตั้งแต่ 2-15% เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้นายจ้างสามารถกำหนดเงื่อนไขสมทบได้ภายใต้อัตราดังกล่าง

จากเงินกองทุน 2 ส่วนหลัก ๆ ด้านบนที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์สมทบส่วนของนายจ้างนั้นคุ้มค่ามาก ๆ เหมือนการนำเงินไปลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนการันตีมาก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้แล้วเงินสะสมที่อยู่ในกองทุนเองนั้น ยังสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

ทีนี้เราก็อาจจะสงสัยว่าเงินกองทุนที่สมทบไปแต่ละเดือนจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะเอาไปทำอะไร เงินก้อนนี้ก็จะมีบริษัทหลักทรัพย์กองทุน นำเงินไปลงทุนตามนโยบายต่าง ๆ ที่กองทุนกำหนด เพื่อให้เกิดผลตอบแทนให้กับเงินของสมาชิกกองทุนนั้นเอง และสุดท้ายผลตอบแทนก็จะเกิดเป็นผลประโยชน์เงินสะสมนั่นเอง

ทำไมถึงควรสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ?

อย่างที่เราได้บอกในบทความช่วงต้น บริษัทจำนวนมากนั้นไม่มีสวัสดิการตัวนี้ให้ แต่ถ้าหากบริษัทที่คุณทำงานอยู่มีแล้วนั้นเรียกได้ว่าถือเป็นโชคดีของคุณ และตัวบริษัทเองนั้นมักจะอยากให้พนักงานสมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตามพอพูดถึงการสมัครพนักงานจำนวนมากมักจะคิดหนัก เพราะผลประโยชน์ระยะสั้นนั้นหายไป ต้องถูกหักเงินเดือนเป็น % ที่เลือกไว้ ซึ่งพอรวม ๆ แล้วก็ไม่น้อยเลยทีเดียว แทนที่จะสามารถเอาเงินจำนวนนั้นไปใช้ซื้อของที่ต้องการได้

ประโยชน์หลัก ๆ ของการเป็นสมาชิกกองทุนเลยนั้นก็คือ การมีเงินสำรองไว้ใช้ในระยะยาว และถ้าเราคิดกันดี ๆ จำนวนเงินที่ถูกหักนั้นไม่ได้เยอะจนเกินไป เงินที่เหลือยังเป็น % จำนวนมาก การเป็นสมาชิกจะช่วยให้วินัยในการออมเงินดีขึ้นอีกด้วยเพราะเงินเดือนโดนหักโดยอัตโนมัติเลยนั่นเอง แถมเงินยังงอกเงยจากการเอาไปลงทุนตามนโยบายต่าง ๆ อีกด้วย

ตัวอย่างการคิดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นาย ก อายุ 25 ปี เงินเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท โดยนาย ก เลือกสมทบที่ 5% และบริษัทก็สมทบให้เท่ากันที่ 5% นั่นหมายความว่าในแต่ละเดือน นาย ก นั้นจะมีเงินเก็บเข้ากองทุนถึง 2,500 บาทต่อเดือน และเงินนั้นยังจะได้ผลตอบแทนจากส่วนของนโยบายกองทุนที่เราเลือกลงอีกด้วย

ควรเลือกนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบไหนดี?

การเลือกนโยบายกองทุนเพื่อลงทุนนั้นหลัก ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ บางคนอาจจะต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นแลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นแล้วผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงจะเป็นตัวกำหนดนโยบายที่เราจะเลือกลงทุน หากเราเลือกลงทุนในตราสารหนี้แน่นอนว่าผลตอบแทนต่อปีก็คงจะไม่หวือหวามากนัก

หากรับความเสี่ยงได้มากขึ้น การเลือกเปอร์เซ็นต์ลงทุนในหุ้นมากขึ้นก็เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุด โดยคุณอาจจะดูที่สัดส่วนอาจจะเริ่มต้นที่ 20% ไปจนถึงลงหุ้น 100% เลยก็ย่อมได้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนจะถูกลดได้จากระยะเวลาในการลงทุน ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นก็เป็นการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 20-30 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว ถ้าหากเราไม่ลาออกจากกองทุนไปเสียก่อน

ควรเลือกเปอร์เซ็นต์ลงทุนเท่าไรดี?

คำถามที่พนักงานมักจะหนักใจเป็นคำถามต่อมาหลังจากตัดสินใจเป็นสมาชิกกองทุนนั่นก็คือ คำถามที่ว่าควรจะลงเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ดี จะลงกี่เปอร์เซ็นนั้นถ้าหากให้เราแนะนำ อยากจะแนะนำให้ลงเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดเท่าที่นายจ้างจะสมทบให้ ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างสมทบสูงสุดให้ที่ 10% เราก็ควรจะใช้สิทธิของเราให้เต็มที่โดยลงที่ 10% ด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าเงิน 10% ของเรานั้นได้ผลตอบแทนที่ 100% ในทุก ๆ เดือนเลยทีเดียวนั่นเอง (แต่ในระยะยาวผลตอบแทนก็ยังขึ้นอยู่กับแผนที่เราเลือกลงเป็นหลัก)

ในบางครั้งพนักงานอาจจะเกิดความสงสัยว่าแล้วถ้าบริษัทสมทบสูงสุดให้ 10% แต่เราต้องการเก็บเงินเพิ่ม เราจะลงเป็น 15% เลยจะดีไหม? หากเป็นกรณีเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองถ้าเราเป็นคนที่มีวินัยในการเก็บเงินแล้วล่ะก็ เราอาจจะเลือกนำเงิน 5% ส่วนต่างไปลงทุนกองทุนรูปแบบอื่นแทนก็ได้ แต่หากเราไม่มั่นใจในวินัยเรา การเลือกตัดที่ 15% เลยก็จะช่วยเราในจุดนี้ได้นั่นเอง

เมื่อรู้แบบนี้แล้วว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีดีกว่าที่เราคิดไว้มาก ๆ ก็อย่าลืมเริ่มมาศึกษา และหากบริษัทที่เราทำงานอยู่ด้วยนั้นมีสวัสดิการนี้ให้ก็อย่าลังเลและรีบสมัครสมาชิกกองทุนเพื่ออนาคตทางการเงินที่สดใสกันได้เลย สำหรับฝ่ายบุคคลเองก็ยิ่งง่ายเพราะตัว empeo เราเองก็มีฟีเจอร์เพื่อช่วย HR ในการจัดการสวัสดิการนี้ด้วยเช่นกัน

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

provident fund, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


You may also like

>