การประเมิน 360 องศานั้นเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในองค์กรต่างๆมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ส่วนนึงก็เพราะบริษัทต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับพนักงานกันมากขึ้น และสิ่งที่จะช่วยในเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรนั้นเห็นทีก็คงจะไม่พ้นจะเป็นเรื่องของการประเมินผลงาน เพราะทำให้ผู้บริหารและหัวหน้างานเองนั้นเห็นภาพรวมของพนักงาน และทักษะต่างๆที่ต้องรอรับการขัดเกลาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งพอเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าระบบประเมินแบบเก่าๆที่เน้นการประเมินจาก top to bottom เพียงอย่างเดียวย่อมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป การประเมินผลแบบรอบด้าน 360 องศาที่รวมเอา feedback ต่างๆที่จำเป็น เลยกลายมาเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากๆในตอนนี้
การประเมิน 360 องศาคืออะไร?
เรามักจะคุ้นชินกันดีกับการประเมินที่หัวหน้าเป็นฝ่ายประเมินลูกน้อง แต่การประเมิน 360 องศานั้น จะเน้นที่การได้รับ feedback ต่างๆจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน ลูกน้องในทีม เพื่อนร่วมงาน หรือพนักงานที่ไม่ได้อยู่สายบังคับบัญชา ด้วยรูปแบบการประเมินที่ได้รับความคิดเห็นจากคนที่หลากหลายจะช่วยให้พนักงานคนนั้นๆรู้ว่าเข้ายังขาดในส่วนไหนไป เพราะพนักงานที่อาจจะเป็นหัวหน้าที่ดีกับคนในทีม อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือนอกทีมก็เป็นได้ สำหรับรายละเอียดในการประเมินผลนั้นจะไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรต้องการมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยข้อใด
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการประเมิน 360 องศานั้นก็คือการเปิดให้พนักงานได้ประเมินตนเองด้วย เพราะนอกจากจะช่วยให้พนักงานได้รีวิวผลงานในช่วงปีที่ผ่านมาของตัวเอง ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทบทวนว่าแท้จริงแล้วเราอยู่จุดไหนในองค์กร และมีอะไรที่เราสามารถทำเพิ่มเติมได้ อะไรที่เรายังทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งหากพนักงานได้ใช้กระบวนการนี้คิดทบทวนอย่างตรงไปตรงมา เมื่อได้รับ feedback จากทางหัวหน้างานก็จะช่วยให้เขาเหล่านั้นยอมรับผลประเมินได้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาปรับปรุงตนเองในจุดที่ขาดไป ในกรณีที่พนักงานรู้สึกว่าการประเมินไม่สอดคล้องกับที่ตนเองประเมินก็สามารถที่จะนำเอาข้อเท็จจริงพูดคุยได้ง่ายขึ้น
ความสำคัญของการประเมิน 360 องศา
แน่นอนว่าการประเมิน 360 องศานั้นย่อมมีอะไรที่ดีกว่าการประเมินแบบก่อนๆ ซึ่งต้องไม่ใช่เพียงแค่การได้รับ feedback จากหลายๆส่วน จึงทำให้บริษัท องค์กรในปัจจุบันหันมานิยมรูปแบบประเมินนี้กัน เรามาลองดูกันเลยดีกว่าว่าแบบประเมินประเภทนี้มีประโยชน์และส่งผลอย่างไรบ้าง
ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าด้วยระบบประเมินแบบนี้ที่ต้องได้รับการประเมินจากหลายๆคน ทำให้พนักงานในบางครั้งไม่อาจรู้ได้เลยว่าใครจะมาประเมินเราบ้าง ส่งผลให้ในการทำงานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่น พนักงานเองก็จะรู้สึกว่าต้องทำงานให้ออกมาดี ไม่เช่นนั้นแล้วเค้าเองก็มีสิทธิ์ถูกประเมินจากพนักงานคนอื่นด้วยเช่นกัน ต่างจากระบบเก่าที่มีแค่หัวหน้าเป็นฝ่ายประเมิน ทำให้หลายครั้งพนักงานเองไม่ใส่ใจจะให้ความร่วมมือกับคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่าที่ควร
เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ด้วยความที่การประเมินต้องมีทั้งประเมินตนเอง และผู้อื่นด้วย ทำให้ระหว่างการประเมินพนักงานจะได้ใช้เวลาทบทวนถึงตัวเองว่าเป็นเช่นไร เราทำงานได้ดีจริงๆอย่างที่เราคิดหรือไม่ มีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงหรือเปล่า และในขณะเดียวกันระหว่างประเมินผู้อื่น เราจะเห็นสิ่งที่คนอื่นทำได้ดี ก็จะช่วยให้เรารู้ว่าเค้าทำได้ดีเพราะอะไร และสิ่งที่ทำไม่ดีเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
พัฒนาศักยภาพได้ตรงจุด พนักงานรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเองและยังได้รับความคิดเห็นจากคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องทำให้ได้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับการทำงานของเรา ประสิทธิภาพเป็นอย่างไรในหลากหลายมิติมากขึ้น ผลสรุปนั้นเกิดจากมุมมองที่กว้างมากขึ้น และสะท้อนความเป็นจริงมากกว่าการที่คนๆเดียวมาประเมินให้กับพนักงาน
ส่งเสริมความโปร่งใส ยกระดับพนักงานที่เก่ง เพราะการที่หลายคนมีส่วนร่วมในการให้ feedback จะทำให้อคติที่ได้จากการประเมินผลนั้นลดลง เช่นหากหัวหน้างานประเมินให้ไม่ดี แต่ผู้คนที่เกี่ยวข้องนั้นประเมินให้ดีมากๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น การประเมิน 360 องศาจึงช่วยทำให้เห็นได้ถี่ถ้วนมากขึ้น และพนักงานเก่งๆที่ได้รับ feedback อย่างไม่มีอคติเองนั้นก็จะนำสิ่งต่างๆเหล่านี้ไปปรับปรุงตัว ทำให้พวกเขายิ่งเก่งขึ้นไปได้อีก
เพิ่มพูนทักษะการวิเคราะห์ การที่ต้องประเมินในหลายรูปแบบนั้น จะต้องใช้ทักษะการคิดเยอะกว่าการประเมินแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์งานของตนเอง จุดดีจุดด้อย การมองในมุมของผู้อื่น ความสำเร็จของงาน และไม่ใช่การทำเพียงแค่ครั้งเดียวแต่กับหลากหลายบุคคลที่เกี่ยวข้องกันซึ่งต้องทำหลายครั้งมากๆ ทำให้เกิดกระบวนการคิดซ้ำๆในระหว่างการประเมิน และนี่เองคือสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์
แล้วประเมิน 360 องศามีข้อเสียไหม?
แม้ว่าระบบที่ดีที่สุดในโลกก็ยังต้องมีข้อบกพร่อง ซึ่งกฏเกณฑ์ข้อนี้ก็เกิดกับการประเมิน 360 องศาด้วยเช่นกัน เราได้รวบรวมข้อเสียที่อาจจะพบเจอได้ในการนำเอการประเมิน 360 องศามาใช้งาน
- มาตรฐานการประเมินผลที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากพนักงานคนนึงจะได้รับการประเมินผลจากหลายๆคน ดังนั้นแล้วคะแนนที่ได้รับมาอาจจะไม่สะท้อนมาตรฐานที่แท้จริงของพนักงาน แต่เป็นมาตรฐานของผู้ให้คะแนนเองก็เป็นได้
- ปัจจัยวัดผล แม้ว่าระบบประเมิน 360 องศาจะช่วยในเรื่องความหลากหลาย แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญก็คือตัวแบบประเมินเอง หากแบบประเมินมีปัญหาระบประเมินก็ไม่อาจช่วยอะไรได้
- ยากต่อการจัดทำ หากที่องค์กรไม่ได้มีการใช้ระบบประเมิน การจัดทำและรวบรวมผลก็จะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ จากแต่ก่อนทำเพียง 1-2 ชุดต่อคน ด้วยรูปแบบ 360 องศา อาจจะต้องมากถึง 10 ชุดต่อคนเลยทีเดียว
- พนักงานร่วมมือกันประเมินให้ดี หากกำหนดกฏเกณฑ์ไว้ไม่ดีเพียงพอแล้วล่ะก็ พนักงานก็อาจจะใช้ประโยชน์จากจุดบอดดังกล่าว และใช้วิธีต่างตอบแทนประเมินคะแนนดีๆให้กันและกัน เพื่อหวังคะแนนประเมินตนเอง
สรุป
สุดท้ายแล้วหลังจากรู้ถึงข้อดี ข้อเสียก็คงพอทำให้ทุกท่านรู้ว่าเมื่อนำเอาระบบประเมิน 360 องศามาใช้นั้นจะส่งผลลัพธ์อย่างไรกับองค์กรบ้าง และแน่นอนว่าผลลัพธ์คงไม่ได้จบแค่การได้ feedback แต่เป็นการนำเอาผลประเมินมาวิเคราะห์ใช้งานกันอีกที สำหรับคนที่มองหาระบบประเมิน 360 องศา ก็อาจจะลองดูได้ที่ลิงก์นี้
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo