คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า work environment ที่ดีนั้นส่งผลให้การทำงาน กำลังใจ สุขภาพจิตของเรา รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นตามๆลำดับ ถ้าหากว่าเราต้องไปทำงานทุกวันในออฟฟิศที่มีสภาพแวดล้อมไม่ดีตั้งแต่บรรยากาศของออฟฟิศ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน แน่นอนว่าเราก็คงไม่อยากจะไปทำงานสักเท่าใดนัก ดังนั้นแล้วการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีจึงเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดในการสร้างทีมอีกด้วย
Work environment ที่ดีและแบบที่เป็นพิษ
สำหรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีนั้น เราทุกคนคงพอทราบกันดีว่าเป็นแบบไหน แน่นอนว่าต้องเป็นสถานที่ทำงานที่ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจอยากไปทำงาน สภาพที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานที่สามารถพูดคุยและแชร์ไอเดียกันได้ การทำงานที่เปิดกว้าง ความเครียดที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังควรเปิดในเรื่องของวัฒนธรรมและให้ความใส่ใจใน work-life balance อีกด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมหมายถึง productivity ที่มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันของทั้งองค์กรนั่นเอง
ส่วน work environment ที่เป็นพิษนั้นก็จะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกันเลย เริ่มตั้งแต่การสื่อสารภายในองค์กรเป็นไปได้อย่างยากลำบาก การทำงานที่มีแต่ความเครียด ไม่รู้สึกถึงความสมดุลระหว่างเวลางานและเวลาส่วนตัว ซึ่งปัญหาต่างๆที่กล่าวมาเหล่านี้สุดท้ายพนักงานจำนวนมากก็จะเริ่มรู้สึกหมดไฟในการทำงานและเริ่มทำการมองหางานใหม่
Work environment ที่ดี สร้างได้อย่างไร มีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่องค์กรต้องให้ความใส่ใจในเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ได้มีเพียงแค่เหตุผลที่กล่าวมาในบทความข้างต้น ที่นอกจากจะช่วยส่งผลดีให้กับพนักงานในองค์กรแล้ว แต่ยังช่วยในเรื่องของการหา talent ต่างๆเข้ามาร่วมงานอีกด้วย เพราะนอกจากผู้สมัครเหล่านี้จะประเมินในเรื่องของค่าตอบแทนต่างๆแล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสนใจไม่แพ้กัน มาดูกันเลยดีกว่าว่าเราควรเริ่มจากตรงไหน
1.เริ่มจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของออฟฟิศ
คุณควรเช็คให้มั่นใจว่าออฟฟิศนั้นสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะสิ่งเล็กๆเหล่านี้มีผลต่อ mood ในการทำงานเป็นอย่างมาก ให้ความสำคัญกับแสงสว่างภายในออฟฟิศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแสงจากหลอดไฟในออฟฟิศ หรือแสงจากธรรมชาติที่ส่องเข้ามา และแม้ว่าในบางกรณีที่อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะจัดให้แสงจากภายนอกผ่านเข้ามาในออฟฟิศ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำได้คือการประยุกต์ใช้สีของหลอดไฟเข้าช่วย เช่น การใช้หลอดสีฟ้าจะช่วยลดความเหนื่อยล้าและเพิ่มความสุข เราอาจจะจัดไว้ในห้องประชุม ในขณะที่ใช้สีโทนอบอุ่นในโซนพักผ่อน เป็นต้น
2.ให้ความสำคัญกับพื้นที่การทำงาน
หลายต่อหลายครั้งที่องค์กรมักเข้าใจผิดและให้ความสำคัญเฉพาะพื้นที่รอบๆออฟฟิศ และในส่วนที่บุคคลภายนอกเห็นได้เพียงแค่นั้น แต่นั่นยังไม่เพียงพอ อย่าลืมว่าพนักงานนั้นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โต๊ะทำงาน ดังนั้นแล้วทำให้มั่นใจว่าพนักงานแต่ละคนมีพื้นที่บนโต๊ะทำงานที่มากเพียงพอ ไม่นั่งติดกันจนเกินไป ไม่ต้องแชร์พื้นที่ร่วมกัน และอีกสิ่งที่เรามักจะมองข้ามก็คือเรื่องของเก้าอี้ทำงานที่ต้องมีความสบายเพียงพอต่อการทำงานระยะยาวในแต่ละวัน
3.ใส่ใจ work-life balance
อย่าลืมว่าในตัวคนๆหนึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ชีวิตการทำงาน เมื่อพนักงานสามารถเติมเต็มความต้องการและเป้าหมายอื่นๆในชีวิต เช่นด้านครอบครัว เพื่อนฝูง การเติบโตของตนเอง เมื่อนั้นพนักงานจะมีความพึงพอใจกับสภาพปัจจุบัน และเกิดความรู้สึกว่าทุกๆด้านในชีวิตกำลังเป็นไปด้วยดี ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงมากขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากว่าองค์กรยังเน้นในเรื่องของการทำงานหามรุ่งหามค่ำจนพนักงานไม่มีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเอง
4.ส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสาร
มีหลายกรณีมากๆที่พนักงานลาออกเพราะทนไม่ไหวกับการสื่อสารในองค์กร คนในบริษัทใช้แต่อารมณ์ในการสื่อสาร ซึ่งใน work environment ที่ดีนั้น พนักงานไม่ควรจะต้องเกิดความรู้สึกที่ว่าพวกเขาต้องเก็บเงียบ เพราะหากพูดออกไปจะมีปัญหาอะไรตามมา การเปิดกว้างในการแสดงความคิดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้การพูดคุยสื่อสารกันในทีมที่มากขึ้นยังจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
5.เห็นคุณค่าของพนักงาน
จริงอยู่ว่าพนักงานในองค์กรทำงานเพื่อเงินเดือน แต่ก็ยังมีด้านที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องผลตอบแทน ทุกคนต้องการให้องค์กรตระหนักถึงความทุ่มเทในการทำงานของตนเอง ดังนั้นแล้วอย่าลืมให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และให้รางวัลกับพนักงานที่สร้างความแตกต่างให้กับองค์กร โดยรางวัลนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผลตอบแนในรูปของตัวเงินทุกครั้ง การทำเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกในที่ทำงาน ในส่วนพนักงานเองก็จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและภูมิใจกับงานที่ทำเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog: www.empeo.com/blog
Facebook: www.facebook.com/myempeo
Youtube: www.youtube.com/empeo